About Us
เกี่ยวกับชมรม


Update: 2016-11-07
Views/Visit: 1365

ชีวิตและงานของศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุภรี สุวรรณจูฑะ

ตอนที่เราเป็นเด็ก เวลาไม่สบาย พ่อแม่ก็จะอุ้มไปหาหมอ หมอที่พวกเราเด็ก ๆ ฝันอยากพบก็คือ คุณหมอใจดี ที่มีแต่รอยยิ้ม แววตาของหมอที่เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ไปหาทีไร หายเจ็บ หายป่วยทุกที ไม่สบายทีไร ทั้งเด็กทั้งพ่อแม่ต้องยกโขยงกันไปหาคุณหมอใจดีคนนั้น คุณหมอใจดีที่อยู่ในความคิดคำนึงของคนไข้ทุกคนที่เคยได้พบท่าน คือ ป้าหมอสุภรี ป้าหมอที่อยู่ในจิตใจของเด็ก ๆ หรืออาจารย์สุภรีที่หมอเด็กทุกคนอยากเอาเยี่ยงอย่างและอยากเป็นอย่างท่าน

       พวกเราอยากรู้จังว่า กว่าที่ท่านจะมาเป็นศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุภรี  สุวรรณจูฑะ อาจารย์กุมารแพทย์ชั้นหนึ่งของเมืองไทยได้นั้น อาจารย์มีการก้าวเดินในเส้นทางชีวิตมาอย่างไร เผื่อว่าบางเสี้ยวของท่านเราจะได้เอาอย่างได้บ้าง

       อาจารย์สุภรีเกิดที่จังหวัดนครราชสีมา เมืองย่าโม คุณพ่อชื่อนายเฉลียว คุณแม่ชื่อนางสุภา  ทองอุไทย อาจารย์สุภรีเป็นลูกคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน

       “ที่จำได้ คุณพ่อคุณแม่จะใกล้ชิดลูกมาก ท่านทั้งสองก็รักกันมาก ถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน  คุณพ่อให้ความรู้ทุกด้าน  โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ  ซึ่งท่านเชี่ยวชาญมาก  เพราะท่านจบจากประเทศอังกฤษ  ท่านได้รับทุนเล่าเรียนหลวงให้ไปศึกษาต่อทางวิศวกรรมศาสตร์    

        คุณพ่อเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความเป็นระเบียบที่ลูกทุกคนได้ยึดเป็นแบบอย่าง ส่วนคุณแม่คอยดูแลในเรื่องการกินอยู่หลับนอนของลูก ๆ  คอยจัดเวลา ควบคุมเรื่องการทำการบ้าน  รวมทั้งการเป็นแม่บ้านแม่เรือน  เน้นเรื่องความประหยัด  คุณแม่เน้นให้ลูก ๆ รู้จักคุณค่าของเงิน  แต่ก็ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่นด้วย   พี่น้องทุกคนรักกัน  ไม่อิจฉาริษยาหรือแก่งแย่งชิงดีกัน  เพราะคุณพ่อคุณแม่ให้ความรักและความเอาใจใส่ต่อลูกทุกคนอย่างสม่ำเสมอและเท่าเทียมกัน  เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากการที่คุณพ่อคุณแม่จัดการทุกอย่างให้ลูกอย่างยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฝากเงินสะสมให้กับลูก การให้ทรัพย์สินต่าง ๆ ก็พิจารณาอย่างรอบคอบ”

      “คุณแม่คอยดูแลทุกข์สุขของลูก เป็นกำลังใจให้กับลูกเสมอ  ท่านคอยสอบถามถึงการเรียน และการคบเพื่อน แนะนำว่าเพื่อนคนไหนน่าจะเป็นเพื่อนที่ดี น่าคบหา  รวมทั้งคอยช่วยเหลืออนุเคราะห์เพื่อนของลูกที่มีปัญหาด้วย มีครั้งหนึ่งไปเล่าให้คุณแม่ฟังว่า มีเพื่อนคนหนึ่งอยู่ห้องเดียวกันที่โรงเรียนเตรียมฯ  ขัดสน  ไม่มีเงินจะรับประทานอาหารกลางวัน คุณแม่ก็ให้ไปสอบถามเขาว่ามีอะไรที่คุณแม่พอจะช่วยเหลือได้บ้าง พอคุณแม่ทราบว่าครอบครัวเขายากจน คุณแม่ก็ให้เขามาอยู่ด้วยที่บ้าน ช่วยเหลือจนเขาเรียนจบ เพื่อนคนนี้เป็นคนมีความกตัญญู  เมื่อเขาเรียนจบนิติศาสตร์จากธรรมศาสตร์ ก่อร่างสร้างฐานะจนเป็นคนมีฐานะดีคนหนึ่ง  เมื่อคุณแม่เสียชีวิต เขาก็ขอร่วมสร้างศาลาที่ไว้ศพคุณแม่ที่วัดธาตุทอง เขาขอที่จะมีส่วนร่วมสร้างที่พักอาศัยให้กับคุณแม่ซึ่งเคยให้ความอนุเคราะห์ให้เขามีที่อยู่อาศัย เป็นตัวอย่างของคนที่มีความกตัญญูรู้คุณ น่าประทับใจมาก”  

       “ตอนที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนราชินีบน  มีเพื่อนใหม่คนหนึ่งเพิ่งย้ายมาเข้าใหม่ตอนชั้นมัธยมปีที่ 3  ตอนแรกที่พบกัน ดูท่าเขาเป็นคนที่ค่อนข้างไว้ตัว  คงจะเป็นเพราะเขามีคุณพ่อเป็นพระยาและคุณแม่เป็นคุณหญิง  เขาเป็นคนเรียนเก่ง เป็นคู่แข่งคนสำคัญในการเรียน เพื่อน ๆ ไม่ค่อยจะชอบนัก  ตัวเองก็พลอยไปกับคนอื่นเขาด้วย แต่พอถึงวันที่ขึ้นไปรับรางวัลที่ 1 ที่ 2 ด้วยกัน  คุณแม่ไปในงานรับรางวัลด้วย  พอท่านเห็นเพื่อนคนนี้ตอนออกไปรับรางวัล  ท่านก็บอกทันทีว่า  เพื่อนคนนี้ท่าทางเป็นคนดี น่าจะเป็นเพื่อนที่ดีมากคนหนึ่งถ้าได้คบหากันต่อไป  ซึ่งก็เป็นความจริงตามที่คุณแม่บอก เพราะเพื่อนคนนี้ได้เป็นเพื่อนกันจนถึงปัจจุบัน รักกันมากที่สุดเหมือนเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันมาตลอด เพื่อนรักคนนี้ก็คือ แพทย์หญิงส่องสี  ศรีวรรณบูรณ์ อาจารย์ภาควิชาพยาธิวิทยา รพ.รามาธิบดีนั่นเอง”

       ด้านการเรียน อาจารย์สุภรีจบการศึกษามัธยมต้นจากโรงเรียนราชินีบน มัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วเข้าศึกษาต่อเตรียมแพทย์ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนอยู่ 2 ปี ก็สอบข้ามฟากมาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

       “ตอนที่เรียนที่ศิริราชได้ประสบการณ์ที่ประทับใจหลายอย่าง ที่สำคัญคือได้เห็นแบบอย่างของการเป็นครูแพทย์ที่ดีของอาจารย์หลาย ๆ ท่าน เช่น ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด  แสงวิเชียร  ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม  โปษะกฤษณะ  ศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์  นิยมเสน  ศาสตราจารย์นายแพทย์สมโพธิ  พุกกะเวส  ศาสตราจารย์นายแพทย์พิสิษฐ์  วิเศษกุล  ศาสตราจารย์นายแพทย์บัญญัติ  ปริชญานนท์  ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์  ตู้จินดา  ศาสตราจารย์นายแพทย์ดิเรก  พงศ์พิพัฒน์ โดยเฉพาะศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณ  เนตรศิริ  ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และผู้บุกเบิกสาขาวิชาโรคเด็กของประเทศ  อาจารย์อรุณเป็นผู้ที่มีบุคคลิกภาพอ่อนโยนนุ่มนวลทั้งต่อผู้ป่วยเด็กและต่อศิษย์ทุกคน  ทำให้ตัวเองมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นกุมารแพทย์  เมื่อได้ไปเมืองนอกแล้วกลับมาอยู่เมืองไทย ก็ได้เรียนรู้แบบอย่างของการเป็นกุมารแพทย์และครูแพทย์ที่ดี และความมีจิตใจเมตตากรุณาต่อผู้ป่วยและศิษย์อย่างหาทัดเทียมได้ยาก จากอาจารย์อารี  อาจารย์จันทรนิวัทธ์  อาจารย์เพ็ญศรี  อาจารย์ภัทรพร  และอาจารย์อาวุโสท่านอื่น ๆ จึงได้นำเอาแบบอย่างของความเป็นแพทย์และกุมารแพทย์ที่ดีของทุก ๆ ท่านมาปฏิบัติ สำหรับอาจารย์ภัทรพรนั้นตอนที่อยู่ที่ St. Chris ท่านได้กรุณาไปเยี่ยมให้กำลังใจและให้ข้อคิดต่าง ๆ ในการเลือกสาขาวิชาเฉพาะที่จะเรียนต่อทางเด็ก ซึ่งทำให้สุดท้ายตัดสินใจเลือกทาง respiratory”

       อาจารย์สุภรีได้ทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชอยู่ 1 ปี หลังจากนั้นได้ตัดสินใจไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมเวลาที่อยู่อเมริกานานถึง 6 ปีเต็ม แพทย์ไทยเกือบทุกคนไม่ว่าจะเป็นสมัยนั้นหรือสมัยนี้ต่างก็อยากไปเรียนต่อที่อเมริกากันทั้งนั้น อเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าที่สุดในโลก แพทย์หลายคนตัดสินใจไปตั้งรกรากที่อเมริกา เพราะเจริญกว่าเมืองไทยทุก ๆ ด้าน แต่อาจารย์สุภรีกลับอยากกลับมาพัฒนาการแพทย์ของไทยให้ก้าวหน้าขึ้น อาจารย์เล่าว่า…

       “ตอนที่เรียนจบแพทย์และสอบ  ECFMG ได้  ก็เตรียมตัวที่จะไปทำงานที่ต่างประเทศ  เพื่อน ๆ ที่สนิทหลายคนสมัครไปทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดที่ประเทศอเมริกา และได้ไปกราบลาขอพรจากคุณพ่อคุณแม่  แล้วก็เล่าให้ท่านฟังว่า มีเพื่อนแพทย์ไปทำงานที่อเมริกากันหลายคน ส่วนใหญ่ได้เงินเดือนกันมาก ๆ สำหรับตัวเองนั้นศาสตราจารย์นายแพทย์สมโพธิ  พุกกะเวส ได้กรุณาแนะนำให้เริ่มจากการไปเรียน postgrad ทาง basic sciences ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania ที่อเมริกาก่อน เพราะจะได้เพิ่มพูนความรู้ทางด้านนี้ให้มีความมั่นใจ  จะได้สามารถไปสอนนักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านรุ่นน้องชาวอเมริกันได้ ความประทับใจที่ไม่เคยลืมคือ  เมื่อไปขอทุนจากคุณพ่อคุณแม่ให้ท่านส่งไปเรียนต่อที่อเมริกา แทนที่ท่านจะบ่นว่าทำไมต้องเสียเงินเสียทองไปเรียนอีก ในเมื่อเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ เขาก็สมัครไปทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลในอเมริกาและได้เงินเดือนมาก ๆ กันทั้งนั้น   ท่านกลับยินดีอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนตามที่อาจารย์สมโพธิแนะนำ  นอกจากนี้ทั้งคุณพ่อคุณแม่ยังบินตามไปเยี่ยมและพบกับ host family  และยังช่วยดูแลบ้านให้ระยะหนึ่ง  ทำให้ซาบซึ้งและได้กำลังใจเป็นอย่างมาก  ในสมัยนั้นการไปกลับต่างประเทศต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย  ทั้งค่าเดินทางและค่าครองชีพ  รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ส่วนใหญ่ถ้าจะไปเรียนต่อก็ต้องไปเรียนจนจบรวดเดียวแล้วจึงเดินทางกลับมาบ้าน  บางคนต้องใช้เวลานาน  5-6 ปีขึ้นไป  คนที่ไปเมืองนอกในสมัยนั้นจึงต้องมีความอดทนมากพอควร ทั้งต่อการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ และความเหงาคิดถึงบ้าน ต้องปลอบใจตัวเองโดยพยายามคิดว่า การไปอยู่ต่างประเทศนั้น จะทำให้เราได้รับประสบการณ์ชีวิตที่หาได้ยาก ถ้ามีโอกาสได้นำความรู้และประสบการณ์จากการเรียนและการทำงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะสามารถกลับมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในประเทศของเราได้  ก็พอจะช่วยทำให้หายเหงา  และมีกำลังใจขึ้นมาก” 

       อาจารย์สุภรีเป็นคนที่มีจิตใจงดงาม คอยคิดแต่จะช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นอยู่เสมอ ผลบุญนี้ละมังที่ทำให้อาจารย์ได้พบแต่คนดีในต่างแดน…

       “ต้องบอกว่าเป็นคนโชคดีมากที่พบแต่คนดี  ที่คอยเกื้อกูลและอุปถัมภ์มาตลอด  ตั้งแต่ host family ชาวอเมริกันคือท่านนายพล M.L. Ogden และภรรยา ซึ่งเราเรียกท่านว่า Dad และ Mom รวมทั้ง roommate ชาวอเมริกันอีกสี่คนที่เช่าบ้านอยู่ด้วยกัน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน รุ่นพี่ และเพื่อนคนไทย ไม่เคยลืมความมีน้ำใจของทุกคนเลยจนบัดนี้”

       ก้าวแรกของอาจารย์สุภรีที่อเมริกา เริ่มจากการเรียน post-graduate course in basic sciences ที่ University of Pennsylvania ทำให้อาจารย์มีความรู้พื้นฐานด้าน respiratory physiology เป็นอย่างดี ซึ่งก็มีประโยชน์ในการนำเอาความรู้นี้กลับมาสอนและประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยทางระบบหายใจในเวลาต่อมา

       “ที่ University of Pennsylvania  ได้เรียนรู้โดยตรงจาก Dr.Foster และ Dr.Dubois ที่สอนและทำงานวิจัยเกี่ยวกับสรีรวิทยาทางระบบหายใจ อาจารย์ทั้งสองท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นผู้แต่งตำรา “The Lungs” เล่มแรก จุดนี้เองที่กระตุ้นให้เรารักและสนใจวิชานี้ Dr.Foster และ Dr.Dubois เป็นคนที่สอนแล้วเข้าใจง่าย เพราะใช้คำพูดที่ง่าย เข้าใจได้ไม่ยาก คงจะเป็นเพราะเป็นคนที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้มาด้วยตนเอง จึงสามารถดัดแปลงคำพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย เมื่อกลับมาเมืองไทย จึงได้อาสาสมัครไปช่วยสอนวิชาสรีรวิทยาประยุกต์ของระบบหายใจให้แก่นักศึกษาแพทย์ปีที่ 2 ตั้งแต่ปีพ.ศ.2515 จนถึงปัจจุบัน”

       “ตอนที่อยู่ Pennsylvania ยังได้มีโอกาสไปเดิน  round ward  ดูผู้ป่วยกับ  Professor  Lewis  A. Barness ซึ่งเป็น Chairman ของ Department of Pediatrics, Hospital of University of Pennsylvania  ขณะนั้น ได้เรียนวิธีการดูแลผู้ป่วยแบบ holistic approach  โดยเน้นเรื่องการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด  และพึ่ง lab. investigation ให้น้อยที่สุด  ตัวอย่างเช่น ถ้าวินิจฉัยปอดบวมได้จากอาการและอาการแสดงทางคลินิกแล้ว  ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง X-ray ปอด  ยกเว้นสงสัยว่ามี complication เช่น atelectasis หรือ pleural effusion เกิดขึ้น หรือถ้าพบเด็กที่มาด้วย failure to thrive ต้องซักประวัติการรับประทานอาหารให้ดี  ถ้าพบว่ายังได้อาหารไม่พอก็ควรให้รับประทานอาหารให้พอเสียก่อน แล้วติดตามดูสักระยะหนึ่งก่อน ไม่ควรเริ่มทำ full work-up ของ failure to thrive หรือที่ท่านเรียกว่า thrivogram ตั้งแต่แรก Professor Barness พูดเสมอว่า ถ้าลูกศิษย์คนไหนส่ง lab. โดยไม่จำเป็นก็แสดงว่าไม่ใช่ลูกศิษย์ของท่าน ท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการตรวจร่างกายเล่มเล็ก ๆ สีฟ้า ชื่อ “Hand Book of Pediatric Physical Diagnosis”  ซึ่งเราได้ใช้เป็นคัมภีร์ติดตัวมาจนปัจจุบัน โชคดีมาก ที่ได้มีโอกาสพบ Professor Barness อีกครั้งที่เมืองไทยเมื่อปี 2544 ที่การประชุม International  Pediatric Congress on Nutrition ที่เชียงใหม่  หลังจากไม่ได้พบท่านมาร่วม 30 ปี  ทราบมาก่อนว่า Professor Barness จะมา แต่กลัวจะจำและทักผิดคน เพราะมีอาจารย์ฝรั่งอาวุโสมากันหลายท่าน จึงต้องค่อย ๆ แอบกระซิบถามอาจารย์อารี  วัลยเสวีว่าท่านไหนคือ Professor Barness พอทราบว่าเป็นคนไหนจึงกล้าเข้าไปหา รู้สึกภูมิใจและปลื้มใจอย่างมากที่ได้มีโอกาสเป็นศิษย์คนหนึ่งของ Professor Barness ซึ่งเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่วงการแพทย์มาตราบเท่าทุกวันนี้  ปัจจุบันท่านอายุร่วม 80 ปีแล้ว”

       “อีกท่านหนึ่งที่จะลืมเสียมิได้เลยคือ Professor Elizabeth Rose ซึ่งท่านเป็น advisor ของเราท่านแรกเมื่อไปถึงอเมริกา เมื่อกลับมาเมืองไทยยังได้มีโอกาสบินกลับไปกราบท่านอีกหลายครั้ง ท่านเองก็เคยมาเยี่ยมที่เมืองไทยและมาพักที่บ้านเมื่อหลายปีมาแล้ว  ท่านได้กรุณาให้ความอนุเคราะห์ต่อเนื่องจนถึงรุ่นลูกสาวซึ่งไปเรียนต่อที่อเมริกา ถึงแม้ว่าปัจจุบันท่านจะมีอายุประมาณ 100 ปี และตามองไม่เห็น  หูก็ไม่ค่อยได้ยิน ท่านก็ยังกรุณาให้เลขาฯ ของท่านเขียนจดหมายติดต่อมาตลอด  ที่พักของท่านเป็นที่อยู่สำหรับผู้สูงอายุที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  ตั้งอยู่ ณ มลรัฐ  Pennsylvania ใกล้กับ Longwood Garden ที่สวยงามมาก เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้คงจะได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมท่านอีกครั้ง”

       ในปี พ.ศ. 2513 อาจารย์สุภรีได้ย้ายจาก University of Pennsylvania มาเป็น resident เด็กที่ Georgetown University Hospital, Washington DC ได้เริ่มทำงานดูแลเด็ก ๆ ที่อาจารย์ตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่ก่อนมาอเมริกา…

       “นับว่าโชคดีมากที่ได้มีโอกาสเรียน  Basic Sciences  ทาง Pediatrics  มาล่วงหน้าก่อน ตอนที่เป็น resident เด็กปีแรกได้อยู่บ้านร่วมกับ roommate ชาวอเมริกันที่สนิทกันมาก 4 คน  ทำให้ได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษกันทุกวัน  นอกจากนั้น  ยังได้พบ intern อเมริกันที่น่ารักมากคนหนึ่ง จบแพทย์จาก Georgetown แล้วมาฝึกอบรมต่อเป็น intern สำหรับตัวเองได้รับการยกเว้นไม่ต้องเป็น intern ได้เริ่มเป็น resident ปี 1 ได้เลย  เนื่องจากเขาเทียบการเรียน Basic Sciences in Pediatrics ที่ University of  Pennsylvania ให้เท่ากับ 1 ปีของ internship”

       “Intern ที่น่ารักคนนี้คือ  Dr.Brian Doberstyn  ได้ให้กำลังใจอย่างมากเวลาที่เรามีความลำบากใจในการใช้ภาษาอังกฤษ ในบางเรื่องที่ยาก ๆ เขาจะบอกว่า  ไม่ต้องกังวลเพราะที่จริงแล้วเราเก่งกว่าเขาอีก เพราะเราพูดได้ตั้ง 2 ภาษา แต่เขาพูดได้แค่ภาษาเดียว intern  คนนี้ต่อมาเขาขอมา elective ที่เมืองไทย 2 เดือน เพื่อมาศึกษาเรื่อง  malaria และโรคเขตร้อน ก็เลยเขียนฝากเขามาพบคุณพ่อและพี่น้องที่เมืองไทย เลยยิ่งสนิทสนมกันมากขึ้น ต่อมาไม่น่าเชื่อ เขาได้รับเลือกให้มาเป็น WHO respresentative to Thailand  ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก ได้มีโอกาสพบปะกันตอนที่สนใจเสนอขอทุนทำโครงการวิจัยโรคติดเชื้อของระบบหายใจในชนบทจาก WHO  เป็นการศึกษาเพิ่มเติมจากที่เคยรับทุน BOSTID รู้สึกว่าโลกนี้ช่างกลมจริง ๆ  ที่ประทับใจอีกอย่างก็คือ ทั้ง ๆ ที่เขาใหญ่โตมาก เขายังให้เกียรติบอกอาจารย์ใหญ่ ๆ หลาย ๆ ท่านว่าเราเคยเป็น boss ของเขาเสียอีก”

       หลังจากอาจารย์สุภรีเรียนจบ resident เด็กที่มหาวิทยาลัย Georgetown แล้วก็ย้ายกลับมาเมือง Philadelphia อีกครั้ง ได้รับตำแหน่งเป็น chief resident และ fellow ทาง respiratory diseases และ physiology ที่ St. Christopher’s Hospital for Children, Temple University…

       “งานที่โรงพยาบาลนี้หนักมาก  เพราะต้องทำ 2 หน้าที่  แต่ได้รับความอบอุ่นและความกรุณาจาก  Professor Nancy Huang  ซึ่งเป็น  Director  ทาง  Pulmonary และ inhalation therapy และ Professor Victor C.Vaughan  ซึ่งเป็น  Medical Director  สมัยนั้น  ท่านทั้งสองได้ให้ความกรุณาแนะนำทั้งการปฏิบัติงานและการเรียนรู้ทุกอย่าง รวมทั้งการบริหารจัดการ   ตอนเช้าทุกเช้าจะพบท่านที่ห้องทำงานของท่านเพื่อปรึกษาและรายงาน พร้อมกับ chief resident อีก 2 คน  เนื่องจากเรา 3 คนจะผลัดกันทำหน้าที่ระหว่างที่ turn ไปเป็น fellow ของ specialty ของแต่ละคนด้วย สำหรับตัวเองนั้นต้องทำงานวิจัยทาง respiratory physiology โดยทำเรื่อง 2-3 DPG และ oxygen dissociation curve ในเด็ก newborn ที่มี respiratory distress และเด็กปกติร่วมกับ Dr.Maria Delivoria ซึ่งเป็น neonatologist ที่เก่งมากอยู่ที่ Hospital of University of Pennsylvania ด้วย จึงต้องขับรถวิ่งไปวิ่งมาตลอดระหว่างทำวิจัย เพราะ St. Chris อยู่ทางตอนเหนือของ philadelphia และ Hospital of University of Pennsylvania (HUP) อยู่ทางตะวันตกวันหนึ่ง ๆ จึงต้องเดินทางไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงไปกลับ แต่ก็คุ้มค่า เพราะผลงานวิจัยนี้ทำให้ได้ความรู้และประสบการณ์ทาง respiratory physiology มากทีเดียว สำหรับประสบการณ์ของการเป็น chief resident นั้น  ทำให้ได้รับความรู้มากทั้งด้านงานบริหาร และการประสานงานกับอาจารย์ทุกท่านและแพทย์ประจำบ้าน บรรยากาศใน St. Chris  เหมือนกับครอบครัว  เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ใหญ่มาก มี 300 กว่าเตียง หลังเสร็จงานตอนเช้า แพทย์และพยาบาลทุกคนจะลงไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยกันที่ self service restaurant ชั้นล่าง และคุยกันอย่างผ่อนคลายในช่วงเที่ยง หน้าที่อย่างหนึ่งของ chief resident ที่ต่างจากที่อื่นคือ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศกิจกรรมการประชุมต่าง ๆ ผ่านทางโทรศัพท์ในห้องพักของ chief  เลยทำให้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้ยินเสียงตามสายของเราซึ่งเป็น chief resident ต่างชาติ แทนที่จะใช้ operator อเมริกันเป็นผู้ประกาศ สำหรับเรื่องเสียงของตัวเองนี้ อาจารย์ Dr. Huang เคยกล่าวว่า “Subharee, you have a carrying voice” เพราะทุกคนมักจะได้ยินเสียงก่อนเห็นตัว”

       และในที่สุดอาจารย์สุภรีก็ได้สำเร็จการศึกษาทุกอย่างตามที่อาจารย์ตั้งความหวังไว้ อาจารย์ตัดสินใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน กลับมาอยู่กับญาติพี่น้องในเมืองไทย โรงพยาบาลรามาธิบดีโชคดีเหลือเกินที่ได้อาจารย์สุภรีมาเป็นสมาชิกใหม่ของสถาบัน

       “ตอนที่เป็น chief resident อยู่ที่ St. Chris เป็นช่วงเวลาพอดีกับที่ Dr.Lawrence Weed  เพิ่งจะริเริ่มพัฒนาระบบการเขียนรายงานผู้ป่วย โดยนำเอาการเขียนแบบ Problem Oriented Medical Record (POMR) เข้ามาใช้ในอเมริกา เลยได้รับมอบหมายจาก Dr.Vaughan ให้รับผิดชอบดูแลการเขียนแบบ POMR ของแพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์ที่โน่น ซึ่งก็นับว่าโชคดีที่ได้ทำเรื่องนี้ ทำให้เป็นจุดประจำตัวจุดหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสได้รับพิจารณาให้เป็น staff ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในโอกาสต่อมา ตอนแรกที่กลับมาที่รามาธิบดีนั้นได้รับความกรุณาจากอาจารย์สมจิตต์  วิริยานนท์  รับเข้าทำงานที่หน่วยเวชปฏิบัติทั่วไป (GP) โดยที่ทางหน่วยมี plan จะเปิดอนุสาขาเด็กขึ้นที่หน่วยเวชปฏิบัติทั่วไป ก็เลยคิดจะเอา POMR ไปใช้ที่ GP พอนำเสนออาจารย์สมจิตต์ อาจารย์ก็มอบหมายให้ไปประสานงานกับภาควิชากุมารฯ ถึงรายละเอียดที่จะทำ จึงได้ไปเรียนปรึกษากับอาจารย์จันทรนิวัทธ์  ซึ่งอาจารย์ก็ให้ความสนใจอย่างมากและนำเข้าไปปรึกษากับอาจารย์อื่น ๆ ในภาควิชากุมารฯ และได้กรุณารับไว้เป็น staff ของ OPD เด็ก อาจารย์จันทรนิวัทธ์ได้เรียนให้อาจารย์สมจิตต์ทราบ และขอตัวมาไว้ที่ภาควิชากุมารฯ  โดยส่วนตัวถึงจะรู้สึกผิดอยู่พอควรที่ทิ้งทาง GP มา แต่ก็ดีใจที่จะได้มีโอกาสทำงานใน subspecialty ที่ได้ฝึกอบรมมา”

       “อันที่จริงเคยสมัครมาที่ภาควิชากุมารฯ ก่อน แต่ทางภาควิชาฯ แจ้งว่าไม่มีตำแหน่งทาง chest  เพราะไม่คิดว่า  pediatric chest specialist จะมีการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคระบบหายใจแตกต่างจาก specialist  ของหน่วยงานอื่นที่มีอยู่แล้วเช่น หน่วย allergy, TB หรือ infectious เมื่อไม่มีตำแหน่งทาง chest จึงไม่ได้รับการพิจารณาตั้งแต่ต้น การทำงานที่ภาควิชากุมารฯ ในช่วงแรกนั้นอาจารย์จันทรนิวัทธ์ได้มอบหมายให้ปฏิบัติงานที่ OPD และช่วยอาจารย์ไพบูลย์ที่หน่วย allergy โดยขณะนั้นมีอาจารย์ภัทรพรเป็นที่ปรึกษาของ OPD อยู่ และได้มอบหมายให้ทำ chart audit โดยตรวจการเขียนรายงานของ resident และพยายามทำให้เป็นแบบ POMR ทั้งหมด ซึ่งก็ได้มีการใช้แบบอย่างนี้มาจนปัจจุบัน นอกจากนั้นในปีแรกของการปฏิบัติงาน ซึ่งก็เหมือนกับอาจารย์ทุกท่านในภาควิชากุมารฯ ก่อนหน้านั้นก็คือต้องมาทำหน้าที่เป็น chief resident และอยู่เวรในโรงพยาบาลด้วย ซึ่งตอนนั้นได้สลับกันกับอาจารย์พงษ์จันทร์ซึ่งกลับมาก่อนหน้าไม่นาน งาน chief resident นี้เป็นงานที่สนุกและท้าทายเพราะได้ทำหน้าที่ทั้งด้านการรับ consult และการเตรียมการประชุมและรายงานผู้ป่วยตอนเช้า ๆ ด้วยซึ่งก็ได้ใช้ประสบการณ์เดิมจากการที่เคยเป็น chief resident ที่ St. Chris มาก่อน”

        ชีวิตการทำงานของอาจารย์สุภรีไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิดไว้ การฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ต้องอาศัยความมานะอดทน ความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะเอาชนะอุปสรรคนั้น ๆ อาจารย์สุภรีมีกลวิธีในการแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยความละมุนละม่อม

       “ในสมัยที่เริ่มงานในภาควิชากุมารฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2515 นั้น เป็นสมัยที่อุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจเด็กยังมีน้อย และยังขาดคนที่มีความเข้าใจเรื่องเครื่องมือดีพอ แม้กระทั่งคนที่ขายเครื่องมือแพทย์เองก็ยังไม่มีความชำนาญ ยังจำได้ดีว่าตอนที่มาเริ่มทำงานทาง chest ในเด็กนั้น  ทั้งภาควิชาฯ มีเครื่องช่วยหายใจเด็กอยู่เครื่องเดียว คือ  Amsterdam Infant Ventilator หรือ Loosco พอไปมองดูปุ่มต่าง ๆ บนตัวเครื่องก็แปลกใจ ว่าทำไมไม่มีที่สำหรับ mix oxygen กับ air เลย แสดงว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาคนไข้ได้รับแต่ 100% oxygen ไม่ทราบว่าปอด ทางเดินหายใจ และจอประสาทตาจะถูกทำลายไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว พอเชิญตัวแทนบริษัทที่ขายเครื่องมือมาสอบถาม  เขาบอกว่าที่จริงแล้วเครื่องมือนี้มี oxygen mixing device อยู่ด้วย แต่ที่ไม่บอกแพทย์ เพราะแพทย์บอกเขาว่าอยากให้เสนอราคาที่ถูกที่สุด  เขาจึงไม่ได้เสนออุปกรณ์ชุดนี้ให้ ที่เล่ามานี้แสดงให้เห็นว่า ตอนนั้นคนยังมีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง technology ของเครื่องมือทางการแพทย์น้อยมาก ตัวเองโชคดีที่นอกจากจะได้มีโอกาสฝึกอบรมกับ Professor Nancy Huang ที่  St. Chris ซึ่งท่านเป็นหัวหน้าหน่วย pulmonary และ inhalation therapy แล้ว ยังได้มีโอกาสฝึกและเรียนรู้กับอาจารย์จิรพรรณ  มัธยมจันทร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีฯ และกำกับดูแลหน่วยช่วยหายใจของคณะฯ ในขณะนั้น  ซึ่งท่านก็ได้ให้ความรู้เรื่องนี้อย่างดียิ่ง และยังมีโอกาสร่วมงานกับท่านในการจัดตั้งคณะกรรมการ respiratory care ของคณะฯ อีกด้วยในเวลาต่อมา  นอกจากนี้ก็ได้พยายามหาประสบการณ์เพิ่มเติมโดยศึกษาค้นคว้าและฝึกฝนด้วยตนเอง”

       อาจารย์สุภรีนับได้ว่าเป็นผู้วางรากฐาน บุกเบิก และพัฒนาการดูแลรักษาทางระบบหายใจในเด็กของประเทศไทยอย่างแท้จริง เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยไอ.ซี.ยู. เด็ก รพ.รามาธิบดี เป็นประธานชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย จัดตั้งชมรมสุขภาพปอดสำหรับประชาชน เป็นประธานคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบวุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์ โรคระบบการหายใจ เป็นประธานคณะกรรมการ respiratory care ของคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ประธานโครงการส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเด็ก ฯลฯ ตลอดชีวิตการทำงานของอาจารย์อุทิศให้กับการพัฒนางานด้านโรคระบบหายใจและไอ.ซี.ยู.เด็ก อาจารย์สุภรีหวังอย่างยิ่งที่จะให้แพทย์ไทยมีความรู้ในสาขาวิชานี้ทัดเทียมหรือใกล้เคียงกับอารยประเทศให้มากที่สุด

       “จากความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาจาก Professor Nancy Huang  ทาง pulmonary และ inhalation therapy และจากการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากท่านคณบดี และท่านหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ทุกท่าน ทำให้มีความคิดที่อยากจะปรับมาตรฐานการดูแลรักษาทาง respiratory care และ critical care ทั้งในระดับคณะฯ และระดับชาติให้ทัดเทียมกันและสามารถแข่งขันกับระดับนานาชาติได้ ซึ่งก็นับว่าเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสจัดอบรมระยะสั้นแก่กุมารแพทย์และพยาบาลทาง respiratory care และ intensive care ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ ในปี พ.ศ.2525  โดยร่วมมือกับอาจารย์เพลินจิตต์เพื่อนรักจากภาควิชาวิสัญญีฯ ในการนี้ได้ดำเนินการขอทุนสนับสนุนจาก WHO เพื่อเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา คือ Professor Mark C. Rogers ซึ่งเป็น Chairman of department of critical care and anesthesiology จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins มาเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายและให้ความรู้ทาง pediatric intensive care ที่เมืองไทย  นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบุกเบิกงานทาง pediatric critical care และ intensive care อย่างเป็นรูปธรรมของบ้านเรา ผลดีที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ Professor Rogers ได้ให้ความอนุเคราะห์ในด้านการสนับสนุนการฝึกอบรมแก่อาจารย์ของภาควิชากุมารฯ ให้ไปเรียนต่อที่ Johns Hopkins ในโอกาสต่อมา ได้แก่  อ.ธีรชัย อ.อรุณวรรณ และยังมีพยาบาล และอาจารย์ทางวิสัญญีฯ อีกหลายท่าน ทั้งจากรามาธิบดี และจากสถาบันทางการแพทย์อื่น ๆ”

       ลูกศิษย์ที่อาจารย์สุภรีติดต่อส่งไปฝึกอบรมและดูงานที่สหรัฐอเมริกานั้น มีมากมายหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์ที่รามาธิบดีและโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ ลูกศิษย์ของอาจารย์สุภรีทุกคนได้กลับมาทำคุณประโยชน์ในการพัฒนาสาขาวิชานี้ให้เจริญรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ตามแม่แบบคืออาจารย์สุภรีที่ได้วางจิตสำนึกไว้ให้ศิษย์ประพฤติและปฏิบัติตาม

       ความมุมานะบากบั่นและอดทน ทำให้อาจารย์สุภรีมีผลงานจากการทำงานในรามาธิบดีมากมาย อาจารย์เป็นหัวหน้าหน่วยโรคระบบหายใจและไอ.ซี.ยู.เด็ก ตั้งแต่ พ.ศ.2515 ถึง 2541 เป็นรองคณบดีการศึกษาระดับหลังปริญญาในปีพ.ศ.2535-2538 หลังจากนั้นอาจารย์สุภรีได้ก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลาที่อาจารย์ทำงานให้รามาธิบดีทั้งสิ้น 30 ปี เป็นหัวหน้าหน่วยฯ 26 ปี รองคณบดี 3 ปี เป็นหัวหน้าภาคฯ 4 ปี อาจารย์เล่าให้ฟังว่า…

       “การทำงานต้องถือหลักว่า ทำด้วยความรักและความภาคภูมิใจในงานที่ทำอยู่ มีสติที่แจ่มใส มีสมาธิที่มั่นคง ถือว่างานทุกอย่างที่ทำ เป็นงานที่มีเกียรติถ้าก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน”

       “จัดตารางการทำงานให้ดีเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อรับงานสิ่งใดมาทำแล้ว จะต้องมีความรับผิดชอบในงานนั้น ๆ และติดตามผลงานนั้นอย่างต่อเนื่อง พยายามทำให้ได้ผลดีที่สุด ต้องพยายามเข้าใจจิตใจและความนึกคิดของผู้ที่ร่วมงาน มีความจริงใจ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน รู้จักการเสียสละในโอกาสอันควร ให้เครดิตของงานกับผู้ที่ได้ทำให้เกิดผลของงาน”

       “พยายามศึกษารายละเอียดของงานที่จะทำ ให้ความเป็นธรรมและเสมอภาคแก่ผู้ที่อยู่ในทีมงาน เมื่อการงานไม่ประสบผลสำเร็จรวดเร็วอย่างที่ตั้งใจ อาจเป็นเพราะผู้ร่วมงานขาดประสบการณ์ไปบ้าง ก็ไม่ท้อถอยหรือน้อยใจ ให้ใช้ความสุขุมและอดทน พยายามพิจารณาคนด้วยปัญญา โดยให้ถือเสมอว่าอุปสรรคหรือปัญหาที่พบ จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้น และอาจจะเป็นผลดีที่ทำให้เราได้มีเวลามาพิจารณาให้ถ่องแท้ ก่อนที่จะดำเนินงานขั้นต่อไปให้รอบคอบยิ่งขึ้น ควรยอมรับในข้อจำกัดของประสบการณ์ตนเอง พยายามปรึกษาผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน เพื่อให้ได้ข้อคิดที่ดีที่จะนำมาปรับปรุงการทำงานของเรา หมั่นพิจารณาตัวเราเองอยู่เสมอ โดยพยายามตรวจสอบหาข้อบกพร่องที่สมควรปรับปรุง
และพยายามแก้ไขให้ดีขึ้นในโอกาสต่อไป”

       “สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ  การพัฒนาคน ต้องพยายามช่วยคนใกล้ตัวเราที่สุด ให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง โดยดูศักยภาพของแต่ละคนในหน่วยงานที่ทำอยู่ มองหาส่วนดีของเขา และช่วยสนับสนุนให้เขาพยายามใช้ศักยภาพของเขาให้ดีที่สุด ซึ่งโดยทางอ้อมจะส่งผลให้งานของเราดีไปด้วย”

       “นอกจากนี้ต้องอย่าลืมให้เวลากับตนเองบ้าง จัดเวลาให้ตนเองได้พักผ่อนบ้าง ออกกำลังกาย เล่นกีฬาที่ชอบ jogging สมาธิ ฟังเพลงรื่นเริงกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อลดความเครียด ทำให้สมองและจิตใจแจ่มใส ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น ตามคำขวัญที่ว่า “บริหารกายเป็นนิจ บริหารจิตประจำ งานการเลิศล้ำ นำมาสู่การพัฒนาตนที่ดี”

       “สำหรับปัญหาที่พบในการทำงานของหน่วยโรคระบบหายใจและไอ.ซี.ยู. พบว่าที่สำคัญคือ การขาดแคลนบุคลากรที่จะทำงานให้ได้เร็วตามเป้าหมาย ซึ่งปัญหานี้มีอยู่ทั่วโลก ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา สิ่งที่พยายามแก้ไขก็คือ พยายามพัฒนาคนที่มีอยู่แล้วให้สามารถทำงานได้รอบด้าน และได้จัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานี้ให้มากขึ้น และพยายามให้กระจายออกไปทั่วประเทศ หวังจะทำให้การบำบัดรักษาโรคทางระบบหายใจมีประสิทธิภาพดีขึ้น นอกจากนี้ยังอยากให้มีการอบรมบุคลากรอีกประเภทหนึ่ง ที่จะมาช่วยลดภาระงานของแพทย์หรือพยาบาลทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้แก่กลุ่มของ respiratory therapist ซึ่งบ้านเรายังขาดบุคลากรสาขานี้โดยตรง ซึ่งปัญหานี้ขณะนี้ก็ได้ช่วยแก้ไขและปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ในระดับคณะอ







สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย

สำนักงาน: หน่วยโรคระบบหายใจเด็ก ชั้น 3 ห้อง 304 อาคารศูนย์แพทย์สิริกิต์
โรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทร. 0635894599

E-mail: thaipedlung.org@gmail.com