About Us
เกี่ยวกับชมรม


Update: 2016-11-07
Views/Visit: 1120

ความประทับใจจากผู้ร่วมงาน...มิลืมเลือน

แด่อาจารย์สุภรี สุวรรณจูฑะ

       หลังจากที่อาจารย์ได้กลับมาก็ได้มาทำงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ผมและอาจารย์ก็ได้มีโอกาสติดต่อกันมาตลอด ระยะหลังก็ได้มาทำงานร่วมกันที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยด้วยกัน ผมคิดว่าการที่อาจารย์ทำงานทางด้านโรคระบบหายใจนับเป็นโอกาสอันดีเพราะวิชาทางโรคทางระบบหายใจเป็นวิชาที่ไม่ตาย มีความก้าวหน้าตลอดเวลา ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน การพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น เครื่องมือช่วยหายใจ, ทดสอบหน้าที่ปอด ส่วนทางด้านคลินิกผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในวัยเด็กก็มีมาก ถ้าดูสถิติของทั่วโลกโรคปอดอักเสบยังเป็นสาเหตุการตายทั่วโลกถึง 1-2 ล้านคน/ปี และโรค ARI นี้ WHO ก็จัดให้เป็นโรคสำคัญของโลกโดยจัดให้เป็นเรื่องพิเศษที่จัดให้มีคณะกรรมการเฉพาะ และให้มีการประชุมและปรับปรุงตลอดมา

งานในหน้าที่ของอาจารย์สุภรีที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดรวมเป็นข้อใหญ่ๆ ได้แก่

  1. งานด้านการเรียนการสอน
  2. งานการวิจัย
  3. งานบริการวิชาการ
  4. งานทนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ซึ่งผมคิดว่าอาจารย์ได้ทำหน้าที่ทุกๆด้านอย่างเต็มที่ ในด้านการเรียนการสอน อาจารย์ก็มีความมุ่งมั่นในการสอนจนมีลูกศิษย์ทั่วประเทศ โดยอาจารย์ทำทั้งในด้านการศึกษาก่อนปริญญา, หลังปริญญา, แพทย์ผู้ช่วยอาจารย์

งานด้านบริการท่านก็ได้รักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่และครบวงจร ท่านดูแลรักษาด้านโรคปอดและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยมีคนไข้ภาวะวิกฤตที่ต้องใช้เครื่องมือช่วยชีวิต
ทางด้านงานวิจัยท่านได้ทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยเกี่ยวกับระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจในเด็กทั้งในชุมชนเขตเมืองและในชนบท รวมทั้งจัดทีมไปให้การดูแลรักษาต่อเนื่องถึงบ้านในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังของระบบหายใจและจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์สำหรับการบำบัดรักษาทางระบบหายใจรวมทั้งเครื่องช่วยหายใจ

ด้านการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม ท่านก็เป็นตัวอย่างอันดีงามในด้านการใช้สินค้าไทย โดยดูได้จากท่านแต่งชุดผ้าไหมไทยอยู่เป็นนิจ

พูดถึงความสำเร็จ ทุกท่านก็คงทราบว่าท่านได้ผ่านตำแหน่งมามากมายจนถึงศาสตราจารย์ ระดับ 11 โดยเป็นทั้งหัวหน้าหน่วย หัวหน้าภาค รองคณบดี แต่ยังมีตำแหน่งทางวิชาการอีกมากมาย

เรื่องรางวัลท่านก็รับรางวัลเรียนดีตั้งแต่อยู่โรงเรียนราชินีบนจนถึงมหาวิทยาลัยล่าสุดท่านก็ได้รับรางวัลสาขาความเป็นครูจากมหาวิทยาลัยมหิดล

สุดท้ายนี้ขอให้อาจารย์สุภรีจงประสบแต่ความสุขหลังเกษียณอายุราชการ และก็หวังว่าอาจารย์จะยังช่วยในงานต่างๆ ของภาควิชาฯ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งช่วยกิจกรรมของสาธารณะประโยชน์ต่อไป

ศ.นพ.มนตรี ตู้จินดา
อดีตหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล


อาจารย์สุภรีกับงาน ARI

ดิฉันได้รู้จักอ.สุภรีมานานมาก ตั้งแต่อาจารย์กลับจากต่างประเทศ และมาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางระบบทางเดินหายใจในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เคยเข้าฟังการบรรยายทางวิชาการซึ่ง อ.สุภรีมีบทบาทเสมอๆ ก็รู้สึกชื่นชมที่ได้มีกุมารแพทย์ซึ่งมีความรู้ ความชำนาญทางด้านระบบทางเดินหายใจในเด็กอย่างลึกซึ้งมาเป็นผู้ที่ให้ทั้งการบริบาลแก่ผู้ป่วยและถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกหัด และแพทย์ประจำบ้าน

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอ.สุภรีอย่างใกล้ชิดในงานควบคุมโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็กหรืองาน ARI ของกระทรวงสาธารณสุข อาจารย์ได้ร่วมงานกับโครงการนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นซึ่งตอนนั้นอาจารย์ประสงค์ ตู้จินดา เป็นผู้นำ เมื่อ พ.ศ.2522 ได้มีการประชุมระดับชาติเพื่อรวบรวมสถานการณ์ของโรคต่อมางานนี้ก็เริ่มเป็นรูปร่างอย่างจริงจัง และมีแผนการระดับชาติในปีพ.ศ.2533 โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกมีจุดประสงค์เพื่อลดอัตราการตายของโรคระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็กให้ได้ 1 ใน 3 การดำเนินงานนี้ถือเป็นการดำเนินงานระดับชาติซึ่งต้องมีการประสานงานทุกๆ หน่วยงานตั้งแต่สถานีอนามัยจนถึงมหาวิทยาลัย การฝึกอบรมถือเป็นงานที่สำคัญที่สุด การดำเนินงานอบรมเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ค่อยๆ ครอบคลุมทุกสถานีอนามัยทั่งประเทศตั้งแต่ปี 2536 โดยมีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยได้รับการอบรมอย่างน้อย 2 คนต่อสถานีอนามัย ปัจจุบันงานนี้ได้ integrate เข้าสู่จังหวัดทุกจังหวัดแล้ว ผลงานที่ผ่านมาพบว่าอัตราการตายของเด็กลดลงจาก 6.1/100,000 คน ในปีพ.ศ.2533 เป็น 3.02/100,000 คน ในปี 2543 อัตราการป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 1.7% การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในโรคหวัดลดลงจาก 60% เป็น 25% case fatality rate 0.6% เป็น 0.18%

งานนี้เป็นงานที่ อ.สุภรีมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก ปัญหาที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมได้แก่ อัตราป่วยที่สูงขึ้น ซึ่งเรามีความคาดหวังว่าเมื่อมี vaccine การติดเชื้อน่าจะลดลง เชื้อ streptococcal pneumoniae ที่ดื้อยาปฏิชีวนะยังไม่ลดลงและ LRI มี wheezing เพิ่มขึ้นชัดเจน

บทบาทที่สำคัญของอาจารย์สุภรีคือในด้านวิชาการท่านเป็นผู้นำที่เข้มแข็งมาก จากประสบการณ์ที่สูง ทำให้การให้ข้อมูลและการบรรยายมีน้ำหนักได้รับความเชื่อถือ ข้อคิดเห็นต่างๆ มีประโยชน์ต่อกรรมการและยังเป็นผู้ประสานงานที่สำคัญมากระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและทบวงมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะได้ทำให้นักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกหัด ได้รู้จัก ARI standard case management

สำหรับการบรรยายหรือนิเทศน์งาน ARI ทำทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด อาจารย์ได้ร่วมด้วยอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคยปฏิเสธเมื่อเชิญมาทำให้ผู้รับผิดชอบงาน ARI รู้สึกประทับใจมาก ในระยะเริ่มแรกของโครงการอาจารย์ได้เป็นคณะอนุกรรมการระดับชาติตั้งแต่พ.ศ.2532 ทำหน้าที่ตั้งแต่ร่วมวางนโยบาย ปฏิบัติงาน การฝึกอบรม งานวิจัย ส่งเสริมสนับสนุนการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

งานด้านวิชาการที่สำคัญได้แก่ การผลิตสื่อการเรียนการสอนหลายระดับสื่อการสอนที่สำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่ สถานีอนามัย ในเรื่องการบริบาลมาตรฐานผู้ป่วยโรคติดเชื้อเฉียบพลันโรคทางระบบทางเดินหายใจในเด็ก โดยดัดแปลงมาจากองค์การอนามัยโลก ผลิตคู่มือแพทย์สำหรับโรงพยาบาลชุมชนเรื่องการบริการโรคติดเชื้อเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ผลิตคู่มือแพทย์สำหรับโรงพยาบาลชุมชนเรื่องการบริบาลของโรค ARI เผยแพร่สำหรับแพทย์ทั่วไป ผลิต natural evidence สำหรับกุมารแพทย์ ในด้านการฝึกอบรมโครงการนี้มีกุมารแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจจากทุกสถาบัน การฝึกอบรมจะเริ่มจากส่วนกลางไปโรงพยาบาลจังหวัด 76 จังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ 800 แห่ง และสถานีอนามัย 8,000 กว่าแห่งทั่วประเทศไทย

อ.สุภรีเป็นประธานฝึกอบรมกุมารแพทย์ซึ่งเป็นครูฝึก ARI ในด้าน respiratory care เป็นกรรมการรับรอง ARI training unit เป็นประธานปรับปรุงหลักสูตรโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ สอดแทรกในโรงพยาบาลทุกแห่งและยังให้การฝึกอบรมแพทย์ต่างประเทศที่มาดูงาน ARI เสมอ

งานวิจัยที่อ.สุภรีมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากและมีประโยชน์ต่องาน ARI เป็นอย่างมากได้แก่

1. การศึกษาสาเหตุระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจในเด็กในปี 2528 ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ผลงานวิจัยพบว่า ARI เกิดจากเชื้อไวรัส 45% ซึ่งเกือบครึ่งเป็นเชื้อ RSV จึงเป็นแนวทางทำให้ ARI เน้นเรื่อง supportive care มากและการให้ยาปฏิชีวนะต้องพิจารณาโดยรอบคอบ นอกจากนั้นได้ศึกษาปัจจัยเสี่ยงของ ARI รวมทั้งอัตราการป่วยและอัตราการตายซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการวางแผนการป้องกันและควบคุมกลุ่มอาการไข้หวัดและปอดบวมในเด็ก

2. ศึกษา epidemiology ที่โรงพยาบาลตาคลี จ.นครสวรรค์ระหว่างปี 2539-2542 เป็นการศึกษาร่วมระหว่างภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี งาน ARI กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลตาคลี จ.นครสวรรค์ ภาควิชาจุลชีววิทยา โรงพยาบาลศิริราช พบว่าอุบัติการการเกิด pneumonia ในเด็กอายุ < 5 ปี 1.8% และ RSV เป็นสาเหตุของ LRI ในฤดูฝน 40-60% ในฤดูร้อนแทบไม่มีเลย

งานวิจัยชิ้นที่ 2 นั้น ดิฉันมีส่วนร่วมเป็นอย่างมากรู้สึกว่าอาจารย์สุภรีมีความสามารถมาก เขียน proposal ส่งองค์การอนามัยโลกจนได้ทุนในการทำการศึกษา ตลอดการศึกษามีการนิเทศงานบ่อยมาก จนผู้ร่วมงานไม่สามารถหลีกเลี่ยงการนัดหมายได้ การมอบหมายงานมีระเบียบ ผลงานนี้แสดงให้เห็นว่าอาจารย์มีความสนใจในงานชุมชนซึ่งเป็นงานระดับหนึ่ง นอกเหนือจากงานระดับลึกในสาขาวิชาชีพอาจารย์ซึ่งคงจะเป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้ว

ในด้านอุปนิสัยใจคอ อ.สุภรี มีครอบครัวที่เป็นตัวอย่างของการครองชีวิตสมรสที่มีความอบอุ่น รวมทั้งมีการปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานด้วยน้ำใจอันดีน่าชื่นชมยกย่องเป็นอย่างยิ่งโดยจะเห็นว่าอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในแผนกหลายท่านแทบจะนับเป็นคนในครอบครัวเดียวกันกับอาจารย์
สุดท้ายนี้ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากอาจารย์เกษียณอายุราชการ นอกจากจะได้ช่วยงานกุมารเวชศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแล้ว อาจารย์ก็คงจะยังเป็นหลักในการช่วยงาน ARI ตลอดไป

อ.ประมวญ สุนากร
อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็ก (สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี)
ที่ปรึกษางาน ARI กองวัณโรค กรมควบคุมโรคติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุข


ย้อนอดีต…สู่ปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลาการทำงานในอดีตที่ผ่านมามากกว่า 25 ปี ที่ดิฉันได้ร่วมทำงานกับอาจารย์สุภรี ดิฉันมีความรู้สึกประทับใจ ภูมิใจ รัก และเคารพในตัวอาจารย์อย่างมาก อาจารย์เป็น role model ที่เพรียบพร้อมที่ควรยึดถือและปฏิบัติตาม ที่ดิฉันรู้สึกอย่างนี้จริงๆ มิใช่เป็นการเยินยอเกินเหตุ ทั้งนี้ได้จากประสบการณ์ตรงของดิฉันที่คลุกคลีกับอาจารย์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาจารย์เป็นผู้ให้ โดยการนำสิ่งใหม่ ๆ ให้กับวงการพยาบาลผู้ป่วยเด็ก และเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการปฏิบัติงานของพยาบาลโดยการสอนให้ดิฉันได้รู้จักเรียนรู้ ทดลองและกระทำตาม นอกจากนี้คำพูดและสิ่งที่อาจารย์ปฏิบัติต่อดิฉันเป็นการให้กำลังใจอย่างต่อเนื่องเสมอมา และพูดย้ำเสมอว่าดิฉันต้องรู้จักอดทน อดกลั้น แล้วเราจะเป็นผู้ชนะ จนกระทั่งดิฉันประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน นอกจากนี้อาจารย์ยังเป็นทั้งนักคิด นักบริหารจัดการ และนักพัฒนาที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล จะเห็นได้จากผลงานที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นหอผู้ป่วยไอ.ซี.ยู.เด็กที่อาจารย์ได้วางรากฐานการดูแลผู้ป่วยวิกฤตเด็ก จนทำให้ปัจจุบันนี้เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงมีบุคลากรทางการแพทย์มาฝึกอบรมและดูงานมากมาย และที่สำคัญอาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมผลักดันและก่อตั้งให้เกิดโครงการ Respiratory nurse ซึ่งเป็นผลงานอันทรงคุณค่าในการพัฒนาบุคลากร พัฒนาวิชาชีพให้ก้าวเข้าสู่การปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงของงานการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีผู้ที่มาดูงานจากสถาบันอื่นมากมาย ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเหมือนของรามาธิบดี งานที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานอีกมากมายที่อาจารย์ได้คิดค้นและพัฒนาให้กับงานการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์

สิ่งที่น่าชื่นชมในตัวของอาจารย์ที่พยาบาลรักใคร่เป็นอย่างมากคือความเป็นกันเอง และให้เกียรติพยาบาลเป็นเพื่อนผู้ร่วมงาน อาจารย์พูดทุกครั้งว่า พยาบาลเป็นกำลังสำคัญของการดูแลผู้ป่วยเด็ก ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแพทย์ ทำให้ผู้ฟังชื่นใจและพร้อมให้ความร่วมมือกับอาจารย์ทุกครั้ง เพราะอาจารย์ให้เกียรติและสรรเสริญผู้ร่วมงานทั้งต่อหน้าและลับหลัง การกระทำเหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นนักบริหารที่มีจิตวิทยา เป็นรากฐานในการปกครองคน

ในวาระครบเกษียณอายุราชการของอาจารย์ ดิฉันและน้องๆ พยาบาลทุกคน ใคร่ขอกราบอวยพรให้อาจารย์มีสุขภาพ แข็งแรง เป็นปูชนียบุคคลที่เคารพนับถืออยู่ในใจของทุกคนที่ได้สัมผัสกับอาจารย์ตลอดไป

สุภารัตน์ ไวยชีตา
ผู้ตรวจการพยาบาลและผู้ชำนาญการพยาบาล


รัก…..เคารพ อาจารย์สุภรี

นึกย้อนไปตั้งแต่ดิฉันเป็นนักเรียนพยาบาลที่ศิริราช ตั้งแต่ยังไม่ได้หมวกขาวของนักเรียน ขึ้นเวรเช้าที่ตึกอัษฎางค์ 1 ได้พบคุณหมอ Intern สาวสวย ตาคม ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยหนักโรคหัวใจอย่างแคล่วคล่อง พร้อมทั้งเรียกนักเรียนพยาบาลคือตัวดิฉันร่วมกันช่วยเหลือผู้ป่วย นั่นเป็นการทำงานร่วมกันครั้งแรก ซึ่งเกิดความประทับใจในความเก่ง แต่อาจารย์จะจำได้หรือเปล่าไม่ทราบ หลายปีผ่านไปดิฉันเรียนสำเร็จพยาบาลแล้วได้มาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดีสักระยะหนึ่ง อาจารย์ก็กลับจากต่างประเทศมาทำงานที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จึงได้ทำงานร่วมกันอีกครั้ง

โรคทางระบบหายใจในเด็กมีมาก และอาจารย์ได้เริ่มนำการรักษาใหม่ ๆ มาช่วยเหลือผู้ป่วย ในเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลเด็กโรคทางระบบหายใจ โดยดำริให้มีพยาบาลประจำหน่วยโรคปอดเด็ก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นที่ปรึกษาและฝึกความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ของหอผู้ป่วยและสถาบันอื่น ให้ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทางระบบหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจารย์ได้ทำการวิจัยมากมาย เช่น หามาตรฐานสมรรถภาพปอดและการเจริญเติบโตของร่างกายในเด็กไทยปกติ ฯลฯ นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดมาตรฐานการดูแลรักษาทางระบบหายใจเพื่อให้การดูแลรักษาโรคทางระบบหายใจของโรงพยาบาลรามาธิบดีมีมาตรฐานในระดับเดียวกันทั้งคณะฯ รวมทั้งเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังได้จัดอบรมแพทย์และพยาบาลที่สนใจจากโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศ โดยมีหนังสือการดูแลและบำบัดโรคทางระบบหายใจออกมาเป็นคู่มือในการปฏิบัติงาน เป็นต้น

จากการที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ ในฐานะพยาบาลประจำหน่วยโรคปอดเด็กคนแรกก็ยิ่งมีความประทับใจมากขึ้น เพราะอาจารย์จะให้เกียรติและเห็นคุณค่าของทุกคน สรรเสริญผู้ร่วมงานทั้งต่อหน้าและลับหลัง ช่วยชี้แนะเมื่อมีโอกาสและติดตามไถ่ถามเพื่อช่วยแก้ปัญหาถ้ามี นอกจากเรื่องงานแล้วอาจารย์ยังดูแลครอบครัวของผู้ร่วมงานด้วย เช่น การเจ็บป่วยของลูกเจ้าหน้าที่ที่ทำงานร่วมกับอาจารย์ และลูกของเจ้าหน้าที่ในคณะฯ ส่วนผู้ป่วยอาจารย์จะดูแลโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ตลอดจนดูแลครอบครัวของผู้ป่วยด้วย เช่น ในรายที่มีปัญหาจะจัดหางานให้ทำ ช่วยเหลือด้านการเงิน หรือบอกแหล่งประโยชน์ให้ตามความเหมาะสม ทีมงานของโรคระบบหายใจเด็ก โดยอาจารย์เป็นหัวหน้าทีม เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ถ้ามีใครพูดถึงการดูแลรักษาโรคทางระบบหายใจในเด็ก ก็ต้องนึกถึงท่านอาจารย์ “ศาสตราจารย์สุภรี สุวรรณจูฑะ” เท่านั้น

เมื่อดิฉันได้ย้ายมารับผิดชอบหอผู้ป่วยเด็ก 1 แล้ว อาจารย์ยังคงติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือร่วมขอทุนมาปรับปรุงหอผู้ป่วยเด็ก 1 จนเป็นหอผู้ป่วยที่สวยงาม เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อในเด็ก ทำให้ผู้ร่วมงานทำงานอย่างมีความสุข พร้อมทั้งสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ได้พัฒนาความรู้เมื่อมีโอกาส เป็นที่ซาบซึ้งในบุญคุณของอาจารย์ที่มีกับน้อง ๆ ทุกคน

ท่านเป็นครูผู้มีความเมตตาเป็นหัวหน้าที่ยุติธรรม

เป็นผู้นำในการพัฒนารู้คุณค่าของทรัพยากร

เอื้ออาทรความทุกข์-สุขใช้แนวทางดูแลรักษาเชิงรุก

นำมาประยุกต์เป็นมาตรฐานอภิบาลเด็กโรคระบบหายใจ

 

รักเคารพอาจารย์อย่างสูง
วัชรี อินทรภูวศักดิ์


20 ปีกับอาจารย์สุภรี ผู้เชื่อมั่นในการทำงานเป็น Team work

       หากจะให้เอ่ยถึงประวัติการทำงานอันยาวนานของอาจารย์สุภรี ดิฉันคงจะต้องเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่จะขาดไม่ได้ เหตุเพราะได้ทำงานอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับอาจารย์มาเกือบร่วม 20 ปี ย้อนกลับไปตั้งแต่ปีพ.ศ.2527 

       ดิฉันจำได้ว่าตอนนั้น พี่วัชรีพยาบาลประจำหน่วยโรคปอดคนก่อน ได้ย้ายไปเป็นหัวหน้าหอผู้ป่วยเด็ก 1 ดิฉันซึ่งขณะนั้นเป็นพยาบาลประจำการอยู่ที่หอผู้ป่วย ICU เด็ก จึงไม่รีรอเลยที่จะขอสมัครมาอยู่แทนตำแหน่งที่ว่างนี้ เหตุผลหนึ่งคงเนื่องด้วยดิฉันประทับใจอาจารย์มาตั้งแต่จบมาทำงานใหม่ๆ แล้ว งานแต่งงานของดิฉันตัวอาจารย์เอง อาจารย์ทัศนะและน้องอ้อ ก็ให้เกียรติไปร่วมงานทั้งๆ ที่ดิฉันยังเป็นแค่พยาบาลประจำการที่ ICU เด็กยังไม่ได้ย้ายมาทำงานกับอาจารย์ด้วยซ้ำ และเมื่อยิ่งได้มาร่วมงานกับอาจารย์ดิฉันก็ยิ่งประทับใจมากขึ้น อาจารย์จะให้เกียรติผู้ร่วมงานเสมอ เนื่องด้วยอาจารย์เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งในการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะในการดูแลรักษาทางระบบหายใจ อาจารย์มักจะพูดเสมอและพูดทุกครั้งที่ไปสอนว่า การดูแลรักษาทางระบบหายใจต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีมทั้งแพทย์ผู้ให้การรักษาและพยาบาลผู้ให้การดูแลจึงจะทำให้แผนการดูแลผู้ป่วยประสบผลสำเร็จ อาจารย์จึงสนับสนุนให้ดิฉันได้มีโอกาสร่วมในการสอนกับอาจารย์ทุกครั้งไม่ว่าจะสอนใคร เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งการรักษาและการพยาบาล นอกจากนี้อาจารย์ยังสนับสนุนให้ดิฉันมีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถโดยการหาทุนให้ไปดูงานเพิ่มเติมที่ต่างประเทศ ได้รู้จักบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านการดูแลรักษาทางระบบหายใจมากมายทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งอาจารย์จะให้เกียรติดิฉันเสมอ โดยจะแนะนำและบรรยายสรรพคุณของดิฉันกับบุคคลเหล่านั้นอย่างยืดยาวทุกครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองได้มีส่วนทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ เกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจในบทบาทพยาบาลที่เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยและเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกันเป็น team work 

       แนวความคิดนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงดิฉันเท่านั้น อาจารย์มีน้ำใจกับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ เสมอ อาจารย์จะสนับสนุนให้พยาบาลตามหอผู้ป่วยต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมวิชาการต่างๆ ที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์จัดขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทยที่อาจารย์เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น อาจารย์ก็เปิดโอกาสให้พยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพราะอาจารย์คิดเสมอว่าการที่จะทำให้หน่วยงานหรือการทำงานใดประสบผลสำเร็จ ผู้ร่วมงานทุกระดับจะต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ดิฉันคิดเสมอว่าการที่อาจารย์มีน้ำใจกับผู้ร่วมงานเช่นนี้ เนื่องมาจากเพราะอาจารย์เป็นผู้มีจิตใจดี อาจารย์มีครอบครัวที่ดี ทำให้อาจารย์เผื่อแผ่มาถึงบุคคลรอบข้าง ผู้ร่วมงาน ลูกศิษย์ ผู้ป่วย ตลอดจนผู้ปกครองจะสามารถสัมผัสได้ถึงความปรารถนาดีอย่างจริงใจของอาจารย์ จะเห็นได้จากเมื่ออาจารย์มีงานอะไรไม่ว่าจะยากง่ายเพียงใด จะมีบุคคลมากมายเข้ามาช่วยกันทำให้ประสบผลสำเร็จ โครงการวิจัยหรือโครงงานของอาจารย์ส่วนใหญ่จะมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงและมีความสามารถในแต่ละสาขามากมายเข้ามาร่วมในโครงการ ซึ่งน้อยโครงการนักที่จะทำได้เช่นนี้ ดิฉันเคยได้ยินอาจารย์บางท่านพูดว่าก็เพราะเป็นสุภรีน่ะซิ 

       อาจารย์เป็นผู้มองการณ์ไกลและกระตือรือร้นที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและหมู่คณะอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งดิฉันสงสัยว่าอาจารย์เอาเวลาที่ไหนมาคิด เอาพละกำลังที่ไหนมาทำ ในฐานะที่ดิฉันเป็นเลขานุการคู่ใจ บางทีก็อดหวั่นใจไม่ได้ ทุกครั้งที่อาจารย์กลับมาจากการประชุมพร้อมทั้งเอาข่าวดีมาบอกดิฉันว่าอาจารย์ได้ทุนวิจัยหรือได้เป็นประธานในโครงการระดับประเทศ ระดับนานาชาติอะไรต่างๆ เพราะนั่นก็หมายถึงว่า ดิฉันจะได้รับเกียรติเป็นเลขานุการหรือกรรมการอะไรสักอย่างตามมาภายหลังด้วยทุกครั้ง
นอกจากผู้ร่วมงานแล้ว ผู้ป่วยและผู้ปกครอง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่อาจารย์นึกถึงเสมอมา อาจารย์ได้ริเริ่มจัดตั้งโครงการการดูแลรักษาต่อเนื่องทางระบบหายใจต่อที่บ้าน เพื่อเน้นให้เป็นการดูแลอย่างครบวงจร ตั้งแต่ช่วงระยะเวลาวิกฤตจนกระทั่งกลับบ้าน อาจารย์จะให้ความสำคัญแก่โครงการนี้มาก เพราะอาจารย์เห็นถึงประโยชน์ในระยะไกลที่จะมีต่อระบบการดูแลรักษา ซึ่งปัจจุบันด้วยความร่วมมือร่วมใจของอาจารย์และทุกคนในหน่วยทำให้โครงการดังกล่าวเป็นระบบที่ดี เอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยและครอบครัวและเป็นแบบอย่างของที่ดีที่เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวในระยะยาว

       ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ ดิฉันยอมรับอย่างภาคภูมิใจว่า ความสามารถ ความสำเร็จ ความภาคภูมิใจในหน้าที่การงานของดิฉันในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งได้มาจากการสนับสนุนและจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์สุภรี ถึงแม้วันนี้อาจารย์จะมีอายุ 60 ปีแล้วและจะเกษียณอายุราชการในอีกไม่กี่วันนี้ แต่ดิฉันและทุกคนที่ได้เคยทำงานร่วมกับอาจารย์เชื่อมั่นว่า ด้วยความสามารถ ความเมตตา ความมีจิตใจดีของอาจารย์ อาจารย์จะยังคงสามารถทำประโยชน์ให้กับวงการแพทย์และเป็นที่พึ่งแก่ผู้ป่วย ผู้ร่วมงานได้อีกมากมาย ถึงแม้อาจารย์จะพูดเสมอในระยะหลังว่า อาจารย์จะเพลาๆ งานลงบ้างและหันไปให้เวลากับครอบครัวและทำปริญญาเอกทางพุทธศาสนาแทนก็ตาม

เสริมศรี สันตติ
พยาบาลผู้ชำนาญทางระบบหายใจเด็ก


ในฐานะที่อาจารย์เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ และดิฉันเป็นเลขานุการภาควิชาฯ จึงทำให้มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับอาจารย์มาตลอด 4 ปี มีความประทับใจในด้านความเป็นผู้นำ มีน้ำใจ อาจารย์ให้การยอมรับ ให้ความไว้วางใจ ให้อิสระในการทำงานและให้โอกาสในการพัฒนาตนโดยการส่งไปอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ อยู่เสมอ

ในด้านการงาน ดิฉันประทับใจในความเป็นคนขยันของอาจารย์ ในขณะที่อาจารย์รับหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ซึ่งเป็นงานหนักอยู่แล้ว อาจารย์ยังสามารถแบ่งเวลาทำงานให้กับสมาคม ชมรมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และด้วยวัยที่เกือบจะเกษียณ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า อาจารย์ยังคงขยันเหมือนเดิม ยังคงมาทำงานแต่เช้า ยังนัดประชุมบ่อยเพื่อติดตามงานอย่างต่อเนื่อง ถึงอาจารย์จะพูดบ่อย ๆ ว่า “หมดแรง” แต่อาจารย์ก็ยังมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมจะสู้งานอยู่เสมอ

นอกจากนั้น ดิฉันยังมีความประทับใจในความเป็น “หมอเด็ก” ของอาจารย์มาก มีความรู้สึกว่าอาจารย์เกิดมาเพื่อจะเป็น “หมอเด็ก” โดยแท้ จากประสบการณ์ตรง ที่อาจารย์เคยดูแลบุตรของดิฉันและจากการที่ได้ดูอาจารย์ให้การรักษาผู้ป่วยเด็กแต่ละราย อาจารย์จะให้การดูแลอย่างดียิ่งเสมอกัน สมกับที่เป็น “ป้าหมอ” ของเด็ก ๆ ทุกคน

ดิฉันในฐานะผู้แทนของเจ้าหน้าที่ธุรการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ขอให้อาจารย์มีความสุขสดใสในชีวิตหลังเกษียณ และขอให้อาจารย์ได้มีโอกาส และมีเวลาปฏิบัติธรรมให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามที่อาจารย์และครอบครัวได้ตั้งใจมาเป็นเวลานานความสบายใจ

นางลักษณา ชิตามระ
และเจ้าหน้าที่ธุรการกุมารฯ ทุกคน


แด่ท่านอาจารย์ “สุภรี”
 

       ท่านอาจารย์ “นามสุภรี” ศรีกุมารฯ คำกล่าวขาน จาก “ศิษย์” “คนชิดใกล้”
ว่างามสง่า พร้อมค่าคุณ กุลสตรีไทย แต่งไหมไทย ทุกวันงาม ยามได้ยล
ใบหน้าพริ้ม ยิ้มเป็นนิจ จิตแจ่มใส กล่าวทักทาย ผูกมิตร จิตกุศล
มอบน้ำใจ มอบห่วงใย ให้ทุกคน ดำรงตน เสมอต้น เสมอปลาย
พี่เกษียณราชการครบมาวาระนี้ ขอพระศรีรัตนตรัยช่วยอำนวยผล
พี่และครอบครัวเป็นสุขถ้วนทุกคน ให้เปี่ยมล้นด้วยรักจากพวกเรา
งานน้อยใหญ่ ทำสำเร็จ เสร็จลงได้ ก็เพราะความ ตั้งใจ และมุ่งหวัง
ใช้ศาสตร์ศิลป์ ธรรมะเสริม เพิ่มพลัง ให้ถึงยัง จุดหมาย ที่ปลายทาง
ในวาระ ใกล้เกษียณ อายุงาน ธุรการ อยากเห็น ท่านเว้นว่าง
จากภาระ หน้าที่ ได้ปล่อยวาง พักผ่อนบ้าง สมเหตุ เจตจำนงค์
หลังเกษียณ ขอให้ท่าน มีความสุข ละจากทุกข์ มุ่งธรรม ตามประสงค์
แข็งแรง ด้วยกายใจ ที่มั่นคง ให้ดำรงค์ คงอยู่ คู่อาจารย์

เจ้าหน้าที่ธุรการกุมารฯ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


หมอ ผู้มีแต่ให้ …………

-รายนี้ไม่ต้องคิดค่าตรวจนะ คิดแต่ค่ายาก็พอ* ค่ะ (ก็แล้วแต่จะบอกมา)

- รายนี้ไม่ต้องคิดค่าอะไรเลยนะ* ค่ะ (น่าจะเป็นแพทย์อาสาเปิดคลีนิกเป็นหมอมวลชน)

- ช่วยโทรไปที่รามาหาหมอเวร จะขอส่งคนไข้ไป Admit ด้วยจ้ะ* ค่ะ (บางครั้งกว่าจะเจอหมอเวร และใช้เวลาพูดคุยกันก็ นานพอสมควร)

- ช่วยโทรหาห้องให้คนไข้รายนี้หน่อย
* อาจารย์คะ ที่รามาไม่มีห้องค่ะ
- โทรเช็คไปที่โรงพยาบาลบาลอื่นดูซิ ถ้าได้พี่จะพูดกับ หมอเวรเองโถ! อาจารย์ขา พวกหนูต้องหมุนโทรศัพท์ตามโรงพยาบาลตั้ง 4 แห่งแน่ะกว่าจะได้ห้อง อีกอย่างก็จวนจะ 4 ทุ่มแล้วนะคะ สงสารคนที่บ้านจะรอ

- เดี๋ยวช่วยโทรไปถามอาการคนไข้ที่ส่งไป Admit ที่โรง พยาบาล……..ว่าอาการเป็นอย่างไรบ้างแม้แต่กำลังตรวจอยู่ที่คลีนิก แต่ใจยังพะวงถึงคนไข้อีกคน

- วันนี้ช่วยปิดรับคนไข้เร็วหน่อยนะ จะรีบกลับไปเตรียมสอนพรุ่งนี้เช้า* ค่ะ (อะไรกัน? เพิ่งเปิดรับคนไข้ได้ 10 กว่าคน และก็เพิ่งจะ หกโมงเย็นกว่าๆ เท่านั้นเอง ก็เคยตกลงกันไว้ว่าปิดรับคนไข้ 1 ทุ่ม แต่ต้องตรวจจนหมด คงลืมแล้วมั๊งคะ)

* อาจารย์คะ คนไข้โทรมาจากต่างจังหวัด ขอปรึกษาเรื่อง ลูกค่ะ
* อาจารย์คะ คนไข้มาไม่ทัน โทรมาเรียนปรึกษาค่ะ
* อาจารย์คะ แม่คนไข้มานั่งรอขอปรึกษาเรื่องลูก เกรงว่าจะไปรับลูกมาตรวจไม่ทันค่ะ
* อาจารย์คะคนไข้โทรมาบอกว่าไม่สบายมากขอมาตรวจคนสุดท้ายค่ะถ้ามีรายการแบบนี้มาคั่นสลับฉาก ภาระตกหนักต้องเป็นของเจ้าหน้าที่ต้องคอยฟังคำบ่น คำถามสารพัด :- “เมื่อไหร่จะถึงคิวคะ? มารอตั้งแต่ 5 โมงเย็น นี่จะทุ่มแล้วยังไม่เห็นเรียกสักที” “ลูกหนูต้องนอนก่อน 3 ทุ่ม นี่จะ 3 ทุ่มแล้ว ยังไม่ได้คิวตรวจเลย” “ดูซิมารอตอนแรกไม่เห็นมีไข้ พอรออยู่ที่นี่สักพักมีไข้เลย” โถๆ ! พวกคุณ ๆ น่าจะเห็นใจป้าหมอบ้าง วันนี้รับโทรศัพท์อย่างเดียวก็ปาไปเกือบชั่วโมง ยังพวกพี่จะต้องกลับบ้านดึกอีกต่างหาก

นี่เป็นเพียงเกล็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจารย์เป็นผู้ ให้ กับคนไข้มาตลอด ให้เวลา ให้บริการ ไม่เคยแม้แต่จะปฏิเสธคนไข้สักรายที่มาขอความช่วยเหลือ เวลาที่หมดไปแต่ละวันที่ออกตรวจคนไข้ที่คลีนิกไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรกับอาจารย์เลย ผลพวงที่ตามมาหลังจากได้ให้เวลากับคนไข้ คือ

“ไม่รอแล้วนะ อะไรให้นั่งรออยู่ได้ตั้งนาน ชั่วโมงไม่ว่านี่ก็ปาไปเกือบ 2 ชั่วโมงแล้ว”

 “ไม่ตรวจแล้วนะคะ รอไม่ไหว ต้องรีบพาลูกไปเรียนพิเศษ”

“อีกนานใช่ไหมคะ? ขอเลื่อนไปตรวจวันหลังก็แล้วกัน ต้องรีบไปธุระค่ะ”

เธอเตรียมของแจกให้เด็กๆ วันปีใหม่หรือยังจ๊ะ* ค่ะ (แต่เห็นว่าเพิ่งจะต้นเดือนธันวาคมเอง)

อย่าลืม! เตรียมของแจกเด็ก ๆ ในวันเด็กล่ะ* ค่ะ (เพิ่งแจกไปหยกๆ เมื่อปีใหม่นี่เอง)

นี่คือการให้ที่นอกเหนือจากหน้าที่หมอ แต่ให้ในฐานะป้าหมอ ของเด็กๆ ทุกคน อาจารย์ เป็นผู้ ให้ความรู้ แก่ผู้ปกครองทั้งทางด้านการปฏิบัติตัว การรักษา ป้องกันตัวอย่างไรจะไม่ให้เกิดโรค บางครั้งผู้ป่วยหายไปนานกว่าจะกลับมา ถามไปตอบมาบอกว่า ได้รับความรู้จากอาจารย์ที่มาตรวจแต่ละครั้ง แล้วนำไปทำตามที่บ้านจนลูกไม่เจ็บไม่ป่วย เป็นเล็กๆ น้อยๆ ก็ซื้อยากินเอง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตรงกับวันเสาร์ มีคนไข้เดินเข้ามา “จะพาลูกมาตรวจครับ” * อ๋อ ป้าหมอเพิ่งเดินออกไปเมื่อกี้เอง อ้าว! ผมนึกว่าเพิ่งเปิดคลีนิกเสียอีก เห็นพวกพี่อยู่กันครบ * จะไม่ให้ครบได้ยังไง พวกพี่ๆ เพิ่งจะได้ทานข้าวกลางวันตอน 16.30 น. นี่เอง ฮา! (คลีนิกเปิดต







สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย

สำนักงาน: หน่วยโรคระบบหายใจเด็ก ชั้น 3 ห้อง 304 อาคารศูนย์แพทย์สิริกิต์
โรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทร. 0635894599

E-mail: thaipedlung.org@gmail.com