อาจารย์สุภรี เดิมนามสกุล ทองอุไทย เป็นผู้ที่เกิดในครอบครัวที่อบอุ่น ทุกคนมีผลการเรียนอยู่ในระดับแนวหน้า สืบทอดตามคุณพ่อซึ่งสอบได้เป็นที่หนึ่งของประเทศ ได้รับการเลี้ยงดู อบรมบ่มนิสัยจากมารดา บิดา และครูบาอาจารย์อย่างใกล้ชิดและละเอียดอ่อนเสมอมา จึงมีนิสัยและจิตใจที่อ่อนโยน แต่ก็มีความเข้มแข็งอยู่ในตัว ประพฤติแต่สิ่งที่ดีงาม มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัวรวมไปถึงสัตว์เลี้ยง เห็นได้ชัดจากเวลาที่เจ็บป่วยจะเป็นธุระในการให้การดูแลรักษา และติดตามผลการรักษาจนหายเป็นปกติ ครั้งหนึ่งเมื่อทราบจากผู้ช่วยแม่บ้านว่าสุนัขตัวสีน้ำตาลวิ่งออกไปเล่นนอกบ้านได้ไม่นาน กลับเข้ามานอน แขนและขาไม่มีเรี่ยวแรง หายใจไม่สะดวก ทั้งที่เวลานั้นเป็นเวลาค่ำมืดแล้ว อาจารย์ได้ขอให้ลูกชายรีบขับรถไปด้วยกันเพื่อหาสุนัขตัวนั้นไปตระเวนหาคลินิก และโรงพยาบาลที่ยังเปิดอยู่ จนสุนัขได้รับการปฏิบัติการช่วยชีวิต
บทบาทของความเป็นแม่
ได้ทุ่มเททั้งกำลังกาย และจิตใจเป็นอย่างมาก ในการเลี้ยงดูบุตรหลานทั้งสองคนด้วยตนเอง ตั้งแต่แรกคลอดจนเจริญเติบโตขึ้น ได้ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านการศึกษา การเรียนรู้ด้วยตนเอง พัฒนาทักษะ การกีฬา ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของสังคมควบคู่กันไป ให้การสนับสนุนการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตามวัตถุประสงค์ของบุตรธิดาด้วยความเต็มใจ ให้การตักเตือนเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนให้ข้อคิดจากประสบการณ์เพื่อเตือนภัยอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้ทุกโอกาส
บทบาทของความเป็นแม่บ้านแม่เรือน
พยายามแบ่งเวลาเพื่อให้การดูแล ควบคุม และให้คำแนะนำในการทำงานบ้านและการประกอบอาหารแก่ผู้ช่วยแม่บ้าน (maids) ทั้ง 2 คน เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในวันหยุดราชการ จะสละเวลาช่วยผู้ช่วยแม่บ้านจับจ่ายใช้สอยสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้าน ตลอดจนเสบียงอาหารเป็นประจำ ทำให้สมาชิกในครอบครัวรวมทั้งสุนัข 2 ตัว ได้รับการอนุเคราะห์โดยถ้วนหน้า
บทบาทของความเป็นภรรยา
เช่นเดียวกับการเอาใจใส่ดูแลบุตรธิดา อาจารย์สุภรีจะให้ความเอาใจใส่และคอยดูแลคู่ทุกข์คู่สุขของอาจารย์อย่างดีและสม่ำเสมอ ไม่เคยบกพร่อง เนื่องจากอาจารย์ได้รับการถ่ายทอดวิชาแม่บ้านการเรือน รวมทั้งการทำอาหารจากคุณแม่ ถ้ามีโอกาสก็มักจะแสดงฝีมือการทำอาหารด้วยตนเองเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่มีภาระกิจมากเช่นปัจจุบัน ในช่วงที่ผู้เขียนเจ็บป่วยและบาดเจ็บสาหัส อาจารย์สุภรีก็ได้สละความสะดวกสบายทั้งหมด มาเฝ้าดูแลที่หอผู้ป่วยทั้งในและนอกไอซียู ตลอดจนทำหน้าที่ขอคำปรึกษาและช่วยประสานงานถึงแนวทางในการให้การบำบัดรักษากับอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญแต่ละสาขาทั้งในและนอกโรงพยาบาล จนกระทั่งอาการเจ็บป่วยของผู้เขียนหายเป็นปกติ
จึงสามารถกล่าวได้ว่า การปฏิบัติตัวของอาจารย์สุภรีทั้งต่อสมาชิกในครอบครัวต่อผู้ป่วยและครอบครัว ที่ได้มีโอกาสให้การดูแลรักษา จะเป็นไปด้วยความเต็มอกเต็มใจ และมีความรับผิดชอบสูง จากจิตใจที่ดีงามเป็นพื้นฐานและมีศีลธรรมประจำใจ ซึ่งทางธรรมถือว่าอาจารย์ปฏิบัติเหตุดีไว้ ผลดีจึงตอบสนอง ซึ่งถือเป็นหัวใจแห่งการครองเรือน และการดำรงชีวิตที่สำคัญ
ท้ายที่สุดนี้ ใคร่ขอฝากข้อคิดบางประการเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมเพื่อนำชีวิตให้มีความสุข และสงบจริง ตามแนวทางปัญญาตรัสรู้ของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระสาวกหรือพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติสมควร ซึ่งถือเป็นกิจที่ควรจะมีในทุกครอบครัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของแต่ละท่านที่จะทำให้เข้าใจได้ลึกซึ้งในเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อนำมาเจริญทางบุญ เพื่อขัดเกลากิเลสฝ่ายบาป หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ละบาป เพื่อเจริญบุญ เพราะศีลโดยทั่วไปสามารถแก้กิเลสอย่างหยาบทางกาย วาจา ใจ ส่วนสมาธิสามารถแก้กิเลสอย่างกลาง เรื่องรัก ชัง หลง และปัญญาสามารถแก้กิเลสอย่างละเอียด ทำให้รู้สึกสภาวะแห่งความเป็นจริง ให้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ เห็นธรรมที่ควรเห็น ที่เรียกว่า “ปรมัติสภาวะธรรม” นั่นเอง
สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย
สำนักงาน: หน่วยโรคระบบหายใจเด็ก ชั้น 3 ห้อง 304 อาคารศูนย์แพทย์สิริกิต์
โรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทร. 0635894599
E-mail: thaipedlung.org@gmail.com