“แพทย์ที่น่าเคารพ”
ได้พาลูกซึ่งไม่สบายบ่อยๆ ไปหาอาจารย์ รู้แต่ว่าสิ่งที่ได้จากอาจารย์ไม่ใช่เพียงแต่ ลูกหายจากไม่สบายแต่ได้หลายสิ่งจากอาจารย์มากกว่านั้น
ภาพของหญิงที่เข้มแข็ง มีชีวิตชีวา ใบหน้าที่เชื่อมั่นและเปี่ยมด้วยรอยยิ้มแห่งความเมตตา คนไข้ทุกคนสัมผัสได้ถึงความมั่นคงในอารมณ์ โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นดวงตาของความปรารถนาดีที่อาจารย์มองคนไข้ ก็รู้แล้วว่าความเจ็บป่วยของคนไข้แทบจะหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง
อาจารย์มักจะสอนถึงการป้องกันโรคด้วยตนเอง เช่น การออกกำลังกายและกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงแก่เด็ก ไม่ใช่รอคอยแต่การซ่อมสุขภาพ โดยให้แต่ยา…ยา และยาเพียงอย่างเดียว เห็นอาจารย์ทำงานหลายอย่างเพื่อรามาธิบดีและเพื่อให้สังคมนี้ดีขึ้น รู้ว่าหนัก รู้ว่าเหนื่อย แต่ก็ไม่เคยเห็นอาจารย์แสดงอาการท้อถอย ในส่วนตัวรู้สึกว่า อาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่ทำให้โลกใบที่ยุ่งเหยิงนี้หมุนไป…ในทิศทางที่ถูกต้อง
ความที่อาจารย์เป็นตัวอย่างของแพทย์ที่ดีและน่าเคารพ ทำให้นึกถึงพระโอวาทของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ว่า “True success in learning is in its application to the benefit of mankind”
ทันตแพทย์หญิงนฤมล ทวีเศรษฐ์
ความรู้สึกประทับใจของทุกคนในครอบครัวศุภมิตร์ที่มีต่อ อ.สุภรี สุวรรณจูฑะ หรือ “ป้าหมอของพวกเรา” เริ่มตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2539 ลูกสาวคนที่สองที่ชื่อมะเหมี่ยว อายุยังไม่เต็มขวบ แต่เป็นหวัดบ่อยมาก ซึ่งคุณแม่ก็พาหาหมอที่คลีนิคย่านบางบัวทองจนครบทุกที่ จนกระทั่งย่านนนทบุรี แต่ก็บรรเทาเป็นครั้งคราว จนกระทั่งมะเหมี่ยวเป็นปอดบวม ต้องรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนนทเวช หลังจากกลับบ้านสักระยะก็มีอาการไข้หวัด ไอมีเสมหะมาก อาการไอเป็นบ่อยมากขึ้น ทำให้คุณแม่กลุ้มใจมากมาบ่นให้พี่ที่ทำงานฟัง ก็ได้รับคำแนะนำให้พาลูกไปหา “ป้าหมอ” ที่คลีนิค วันแรกที่ไปรอตรวจคอยอยู่นานพอสมควรจึงได้เข้าตรวจ ป้าหมอใช้เวลาตรวจคนไข้แต่ละคนไม่น้อยกว่า 20 นาที จึงเข้าใจว่าทำไมทุกคนนั่งคอยโดยไม่มีใครบ่นเลย ทุกคนยินดีที่จะรอป้าหมอเพราะรู้ว่าคุ้มค่ากับการรอคอย คุณพ่อของมะเหมี่ยวยังงงมากที่ป้าหมอตรวจละเอียดมากไม่เหมือนทุกที่ที่พาลูกไป ป้าหมอจะมีภาพระบบทางเดินหายใจอยู่ด้านข้าง ซึ่งป้าหมอตรวจลูกแล้วจะอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่ฟังถึงอาการของลูกโดยชี้ให้ดูภาพประกอบ ป้าหมอจะอธิบายกับคนไข้ทุกๆ ราย อีกทั้งยังสอนให้คุณแม่รู้ถึงวิธีการดูแลรักษาลูกในเบื้องต้นซึ่งคุณแม่ไม่เคยรู้มาก่อน “ช่างเป็นความรู้สึกประทับใจในความเอื้ออารีย์ และความเป็นกันเองของป้าหมอเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นทั้งมะเหมี่ยวและมะปรางลูกสาวคนโตอีกคนก็เป็นคนไข้ของป้าหมอมาตลอด จนกระทั่งมะเหมี่ยวอายุประมาณ 2 ขวบ ป้าหมอก็จะแนะนำให้ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นท่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารปอด อาการของลูกดีขึ้นมาก มะเหมี่ยวไม่ต้องใช้เครื่องพ่นยาอีกต่อไป มะปรางและมะเหมี่ยวจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของป้าหมอทุกอย่างด้วยความตั้งใจและเต็มใจ ทำให้คุณแม่สบายใจมากที่ลูกๆ ไม่กลัวหมอเพราะได้รับความรู้สึกที่ดีจากป้าหมอ ป้าหมอไม่ทำให้ลูกรู้สึกมีความเครียด แต่อยากหาหมอไม่กลัวเครื่องมือ ป้าหมอจะฟังปอดก็รู้ว่าจะต้องหายใจลึกๆ เวลาที่ลูกไอมากจะรีบบอกให้คุณแม่ช่วยเคาะปอดให้หน่อย รู้ว่าจะต้องเคาะปอดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เวลาลูกไม่สบายจะถามถึงแต่ป้าหมอ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต่างก็ว่า “ลูกมีป้าหมอในดวงใจ” เป็นภาพที่ฝังในใจของลูกที่เป็นแบบอย่างที่ดี จะได้ยินแต่คำชมป้าหมอทุกครั้งที่ลูกพูดถึงอยากมาโรงพยาบาลรามาเพียงแค่อยากเห็นป้าหมอก็จะดีใจกลับบ้านไปคุยอวดให้คุณพ่อฟังทุกครั้ง มะเหมี่ยวชอบทานส้มโอ เวลาที่พ่อได้ส้มโอมาจากแม่กลอง มะเหมี่ยวจะขอคุณพ่อ “ขอส้มโอไปให้ป้าหมอหน่อยได้ไหมคะ” คุณพ่อจะยิ้มขำมากๆ ทุกครั้งถ้ามีโอกาสไปแม่กลองและได้ส้มโอสวนน้าเปี๊ยกเมื่อไร คุณพ่อก็ไม่ลืมที่จะนำมาฝากป้าหมอของลูกด้วย ระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 6 ปี สิ่งที่ครอบครัวของเราได้สัมผัสกับป้าหมอคือความดีงามของป้าหมอ ความเป็นหมอด้วยจิตวิญญาณ น่ายกย่อง มีคุณค่าแก่คนรุ่นหลังที่จะยึดแบบอย่างที่ดีงามในคุณค่าของความเป็นหมออย่างแท้จริง ถึงแม้วันนี้ป้าหมอจะเกษียณไปจากโรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ป้าหมอก็จะเป็นผู้มีพระคุณและทรงคุณค่าที่จะไม่มีวันเกษียณไปจากใจของพวกเราทุกคนในครอบครัวศุภมิตร์ค่ะ”
ด้วยความรักและเคารพอย่างสูง
“ครอบครัวศุภมิตร์”
ประมาณปีพ.ศ.2537 ที่คุณเอกชัย นพจินดา ได้พาลูกสาวคือด.ญ.ทวีพร นพจินดา (แตงโม) มาพบป้าหมอของพวกเราคือ ศ.พญ.สุภรี สุวรรณจูฑะ เพื่อรักษาอาการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยน้องแตงโมจะเป็นหวัดบ่อย ซึ่งเวลาเป็นหวัดจะมีอาการไอและหอบเหนื่อย ซึ่งบางครั้งรุนแรงถึงขั้นปอดบวม เมื่อได้มารักษาต่อเนื่องกับป้าหมอแล้ว ได้เข้าร่วมโครงการ “ออกกำลังกายแบบแอโรบิค” เพื่อการบริหารปอด โดยการบริหารนี้ เน้นให้ร่างกายมีสมรรถภาพของปอดแข็งแรง และสามารถเป็นเกราะป้องกันการเกิดโรคที่จะลุกลามต่อไป…คุณเอกชัย นพจินดา ได้เล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้และได้ชวนหมู่ญาติและเพื่อนๆ ที่มีบุตรหลาน มาร่วมโครงการนี้ด้วย ได้ร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมและให้ความรู้ที่ประชาชนสามารถจะนำไปปฏิบัติกับบุตรหลานของพวกเขาได้ทุกครั้งที่โครงการขอความร่วมมือ และยังช่วยประชาสัมพันธ์ให้ทุกครั้งเมื่อมีโอกาส จากผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านประธานโครงการคือ ศ.พญ.สุภรี และคุณเอกชัย ได้ริเริ่มที่จะทำเทปกายบริหารเพื่อเผยแพร่เป็นแนวทางให้แก่ผู้ปกครองได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่คนในครอบครัวต่อไป เมื่อคุณเอกชัยได้เสียชีวิตไปก่อนที่จะดำเนินการส่วนนี้สำเร็จ ดิฉันในฐานะภรรยาและกรรมการคนหนึ่งในมูลนิธิเอกชัย นพจินดา ได้ตระหนักถึงเจตนารมณ์และคุณประโยชน์ที่จะมอบให้สังคมในส่วนนี้เป็นอย่างดียิ่ง จึงได้เสนอโครงการเพื่อขอความสนับสนุนจากมูลนิธิเอกชัย นพจินดา ซึ่งคณะกรรมการท่านอื่นก็เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับจากเทปการออกกำลังกายชุดนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด จวบจนการดำเนินการผลิตเทปชุดนี้ได้สำเร็จลุล่วงมาด้วยดี
ยุรี นพจินดา
ดิฉันรู้จักศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุภรี สุวรรณจูฑะ ครั้งแรกเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้วจากการแนะนำของเพื่อนสนิท เริ่มแรก ลูกปอ อายุ 3 ขวบเป็นหอบหืด เข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง ลูกแป้งก็เป็นหวัดบ่อยมาก
คุณป้าหมอ “สุภรี” ตั้งใจรักษาอย่างจริงจัง จัดโปรแกรมออกกำลังกาย ไปดูบ้านที่อยู่ว่ามีปัจจัยอะไรที่เป็นสาเหตุของโรคนี้บ้าง รักษาด้วยวิญญาณของแพทย์ผู้ให้จริง ๆ และให้ความเป็นกันเองกับคนไข้ (เด็ก ๆ) รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง จนพวกเรามาที่คลินิกอย่างคุ้นเคย เหมือนเป็นบ้านที่สองเลยทีเดียว “ปอ” จากเด็กหอบหืด เริ่มมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้นตามลำดับ และ “แป้ง” ก็หายและห่างไกลจากหวัดและภูมิแพ้
ปัจจุบัน เด็กชายปอ อายุ 22 ปีแล้ว จบจุฬาเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ในขณะที่เด็กหญิงแป้ง ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง ไปศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ขณะนี้เรียนระดับปริญญาเอก ที่ MIT ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพี่หมอได้สร้างความแข็งแรงทางด้านสุขภาพและพลานามัยให้แก่เด็ก ๆ ทั้งสอง ในขณะเดียวกัน พี่หมอก็มีความปลื้มใจในความสำเร็จของเด็ก ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนลูกหลานของพี่หมอจริง ๆ
ด้วยรัก และขอเป็นกำลังใจให้พี่หมอตลอดไป
ประไพวัลย์ มุทิตาเจริญและครอบครัว
พี่หมอของน้อง ๆ – ป้าหมอของเด็ก ๆ
24 ปีแล้วที่ผมและ “ติ๋ว ดวงขวัญ” ได้รู้จัก “พี่หมอสุภรี สุวรรณจูฑะ” “พี่หมอ” เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีอารมณ์ดี และความอบอุ่นใจเมื่ออยู่ใกล้ พร้อมเต็มร้อยที่จะดูแลรักษาตั้งแต่ เด็กเล็กแบเบาะ ไปจนเด็กโค่งให้หายป่วยไข้ “พี่หมอ” เป็นผู้นิยมไทย ใช้ชุดที่ตัดด้วยผ้าไหมเสมอ
เมื่อปี 2522 เป็นครั้งแรกที่พาลูกสาวไปรอพบพี่หมอ เมื่อครั้งออกคลีนิกที่โรงพยาบาลแพทย์สุขุมวิท รอนานมากกว่า 2 ชั่วโมงแต่ก็คุ้มค่า “ตอง” ขณะอายุ 3 ขวบ เป็นไข้ เป็นหวัด หายใจไม่ออก ป่วยตลอดปี ตั้งแต่เกิด “พี่หมอ” ได้ตรวจรักษาด้วยความเอาใจใส่ ซักถามอาการ อย่างละเอียด รวมทั้งอธิบายข้อซักถามอย่างละเอียดอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เรื่องนี้เป็นปกติของ “พี่หมอ” ซึ่งอุทิศเวลาแก่เด็กป่วยแต่ละรายมากอย่างยิ่ง ซึ่งแปลว่า “พี่หมอ” มีเวลาที่บ้านน้อยลงสำหรับ “อ้อและนันท์” รวมทั้ง “พี่หมอ พลตำรวจตรี ทัศนะฯ” ด้วย
ปี 2523 “พี่หมอ” ตกลงใจย้ายไปออกคลีนิกใกล้บ้าน แทนแพทย์สุขุมวิท เพื่อให้มีเวลาสำหรับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น “ติ๋ว” ได้มีโอกาสช่วย “พี่หมอ” ออกแบบต่อเติม ปรับปรุงและตกแต่งตึก 4 ชั้น ซึ่ง “พี่หมอ” ได้ซื้อไว้ก่อนแล้ว เฟอร์นิเจอร์ช่างเซี่ยงไฮ้ ฝีมือเรียบร้อย แข็งแรง สีสรรสวยงาม ชั้นลอยเป็นบริเวณให้เด็กพัก-เล่น รอตรวจ ผนังเขียนสีน้ำมันรูปป่า แนวการ์ตูน มีลำธารไหลผ่าน และมีสิงสาราสัตว์นานาชนิดในอิริยาบทต่าง ๆ ฝีมือคุณนิเวศน์ แก้วหล้า โยธาธิการจังหวัดพะเยา ป้ายชื่อคลีนิกกล่องไฟรูปปอด เครื่องมือ เครื่องใช้ “พี่หมอ” พิถีพิถันกับทุกส่วนจนทุกอย่างเรียบร้อย วันที่ 20 พฤษภาคม 2523 “พี่หมอ” ทำบุญเปิด “สุภรีคลีนิก” ถนนอำนวยสงคราม (เดิน 10 นาทีถึงบ้าน) “ตอง” ได้ประเดิมเป็นคนไข้รายแรก และยังคงไปกวน “ป้าหมอ” แม้นาน ๆ ครั้ง ทั้งที่จบสถาปัตย์มา 3 ปีแล้ว เด็กเจ็บอยู่ไกลถึงไหน ๆ ก็ต้องมาให้ “ป้าหมอ” ตรวจรักษา เด็กเก่าหายแล้ว เด็กใหม่เข้ามาแทน “พี่หมอ” ดูแลทั้งคนไข้ทั้งทีมงานในคลีนิกอย่างอบอุ่น แม้ต้องรับรองผู้ปกครองและให้การรักษาจนเด็กคนสุดท้าย อย่างเหน็ดเหนื่อยเพียงใด “พี่หมอ” และทีมงานคลีนิกก็ยังยิ้มแย้มน่ารักเสมอ
ครอบครัวผม โชคดี ได้ใกล้ชิดสนิทคุ้นเคยกับทั้ง “พี่หมอ พี่หมอทัศนะ อ้อและนันท์” ตัวผมเองรู้สึกเหมือนเป็นน้องชายของ “พี่หมอและพี่หมอทัศนะ” ผมเชื่อว่า “พี่หมอ” คงเช่นกันเพราะ “พี่หมอ” ไม่เฉพาะห่วงใยดูแล “ตอง-เตย” (ลูกสาวผม) ด้านความเจ็บป่วย แต่ได้ดูแลไปถึงขั้นจัดการให้ “ตอง” เข้าอนุบาลที่ ร.ร.ราชินีบน และ “เตย” เข้าอนุบาลละอออุทิศ ซึ่งเป็นพระคุณแก่ผมและลูกทั้งสอง
บ้านพี่หมออยู่ในซอยใกล้สี่แยกบางกระบือ เป็นบ้านไม้สองชั้นของเดิมที่คุณแม่ “พี่หมอ” ซื้อพร้อมที่ดินจากหม่อมเจ้าชายพระองค์หนึ่ง เมื่อปี 2493 “ติ๋ว” ซึ่งเป็นสถาปนิกจึงมีโอกาสช่วย “พี่หมอ” และ “พี่หมอทัศนะ” ดำเนินนโยบาย “อนุรักษ์บ้านเดิม แต่ปรับปรุงให้สะดวกและสนองความต้องการใช้ประโยชน์ในแต่ละช่วงเวลา” ซึ่งเป็นนโยบายยั่งยืนตลอดมาของ “พี่หมอ” สำหรับงานโรงพยาบาลรามาธิบดี นั้น “ติ๋ว” ได้รับมอบหมายจาก “พี่หมอ” ให้เป็นผู้ออกแบบ ปรับปรุง และตกแต่ง หลายส่วนของ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เช่น ห้องประชุม หอผู้ป่วยเด็ก 1 เด็ก 2 เด็ก 5 และ NICU เด็กเล็ก เป็นต้น โดยได้รับประกาศเกียรติคุณมาหลายใบ
เมื่อถาม “ตอง-เตย” ว่า เอ่ยถึง “ป้าหมอ” แล้ว นึกถึงอะไร คำตอบ คือ ชุดผ้าไทย เสียงหัวเราะแจ่มใส อารมณ์ดี วิตามินซี ลูกโป่ง ยาอักเสบปึกใหญ่ ฉีดยาเก่ง กาแฟเย็น และวันคริสต์มาส ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิด “ป้าหมอ” ขนมมากมาย
หลังเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2545 นี้แล้ว ผมเชื่อว่า “พี่หมอ” จะมีเวลาได้ทำประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และยังคงเป็น “ป้าหมอ” ขวัญใจของเด็ก ๆ อยู่เสมอ
ระพินทร์ จารุดุล
ผู้ช่วยเลขาธิการ สจร.
สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก
นับเป็นโชคดีของผมและครอบครัวที่ได้มีโอกาสมาเป็นคนไข้ของพี่หมอสุภรี ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา พี่หมอให้เวลากับคนไข้ทุกคนโดยไม่ได้คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยของตนเอง พี่ได้ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพของเด็กให้กับพ่อแม่อย่างละเอียดจนทำให้เราสามารถดูแลอาการเบื้องต้นของลูกได้
ในบางครั้งที่ลูกเป็นหนักพี่หมอมักจะห่วงใยและเป็นกังวลเหมือนเป็นญาติสนิทคนหนึ่งจนทำให้ผมและครอบครัว เคารพรักพี่หมอมาก และไม่ใช่เป็นเพียงครอบครัวผมครอบครัวเดียวเท่านั้น พี่ได้ให้ความดูแลใกล้ชิดอย่างนี้กับทุกครอบครัว
และเมื่อวาระที่พี่หมอใกล้จะเกษียณ ฟังครั้งแรกแทบไม่เชื่อเพราะพี่หมอยังดูสดชื่น (ไม่แก่) ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะบุญกุศลที่พี่ได้ทำไว้ให้กับสังคม และจิตใจที่ดีงามของพี่ พี่ทำแต่สิ่งที่ดี คิดในสิ่งที่ดีเสมอมาก็คงเป็นได้นะครับ
ระยะหลังถ้ามีโอกาสได้คุยกับพี่ พี่ก็มักจะสอนเรื่องธรรมะในการทำงานและในการดำรงชีวิตบ้างซึ่งเมื่อลองนำมาคิดมาปฏิบัติก็ทำให้เกิดความสบายใจ
ตลอดระยะเวลาที่พี่หมอทำงานพี่ต้องเหนื่อยต้องเสียสละเวลาส่วนตัวที่พี่จะให้กับครอบครัวของพี่มาให้กับการรักษาเด็ก และการสอนนักศึกษาแพทย์ ซึ่งหลังจากพี่เกษียณแล้วพี่คงจะได้พักบ้างและมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น แต่ก็อย่าทิ้งน้อง ๆ และหลาน ๆ นะครับ
ในวาระที่พี่จะเกษียณอายุราชการนี้ ผมและครอบครัวขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงดลบันดาลให้พี่หมอและครอบครัว มีความสุขความเจริญ มีสุขภาพแข็งแรง คิดหวังสิ่งใดขอให้สมปรารถนานะครับ
เคารพรัก
เฉลิมชัย วงศ์ปิยะและครอบครัว
พี่เหมือนแสงสว่างนำทางให้เด็กพ้นภัยจากโรคหายโศกเศร้า
พี่รักษาอาการไข้ให้ทุเลาด้วยเพราะเฝ้าซักถามตามอาการ
พี่ให้เวลาอธิบายในทุกอย่างเป็นแนวทางให้นำไปเล่าขาน
พี่เหน็ดเหนื่อยก็เพราะพี่ต้องการให้หลาน ๆ นั้นมีสุขภาพดี
พี่เกษียณราชการครบมาวาระนี้ขอพระศรีรัตนตรัยช่วยอำนวยผล
พี่และครอบครัวเป็นสุขถ้วนทุกคนให้เปี่ยมล้นด้วยรักจากพวกเรา
อินทิรา วงศ์ปิยะ
18 กรกฎาคม 2545
กราบเท้าป้าหมอ…ที่เคารพรัก
ครอบครัวของเราได้รู้จักกับป้าหมอมาประมาณ 9 ปีกว่าแล้ว ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 16 มกราคม 2536 วันนั้นน้องก้องอายุ 5 ขวบมีประวัติการเจ็บป่วยมาตลอดนับตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นมา อ้อยพาลูกไปหาป้าหมอที่สุภรีคลีนิคตามคำแนะนำของเพื่อนสนิท วันนั้นจึงเป็นวันแรกที่ได้รู้ซึ้งถึงคำว่าความละเอียด ความถ้วนถี่ของการรักษาโรคเป็นอย่างไร นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่คลีนิคซักประวัติการเจ็บป่วยของลูก ไปจนถึงขั้นตอนการตรวจรักษาของป้าหมอ ขั้นตอนการปฎิบัติตนต่างๆ เมื่อยามเจ็บป่วยอย่างละเอียดละออ
“ป้าหมอของเรา” ค้นหาสาเหตุการเจ็บป่วยของน้องก้องจนพบว่า ก้องเป็นโรคภูมิต้านทานต่ำตั้งแต่กำเนิด ซึ่งพบโรคนี้ได้ไม่มากนักในบ้านเรา อ้อยและพี่สมศักดิ์รู้สึกใจหายกับความโชคร้ายของลูก แต่ก็รู้สึกโล่งอกและตื้นตันกับความโชคดีที่ลูกได้มีโอกาสได้พบกับแพทย์ที่ดีเยี่ยม แพทย์ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา เอื้ออาทร ห่วงใย พร้อมรับฟังปัญหาและให้กำลังใจครอบครัวของเราอย่างสม่ำเสมอ แพทย์ผู้ซึ่งเป็นผู้ให้อย่างมากล้น เป็นมากกว่าคำว่า “แพทย์” ป้าหมอเปรียบเหมือน “แม่” ของเรา เปรียบเหมือนต้นไม่ใหญ่ให้เราได้พักพิง ในชีวิตของเราสามคนโชคดีมากแล้วที่ได้มีโอกาสได้ใกล้กับคนที่ดีมากๆ ของโลกคนหนึ่ง รู้สึกภูมิใจกับ ร.พ.รามาที่มีแพทย์ผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม ทุ่มเทให้กับการรักษาอย่างจริงจัง แพทย์ผู้เป็นตัวอย่างของแพทย์ที่ดี ป้าหมอจึงเป็นที่รักของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน คนไข้และผู้ปกครองของเด็กๆ ป้าหมอเป็นตัวอย่างของผู้อุทิศตนเพื่องาน เป็นแบบอย่างที่ดีที่แพทย์ควรนำไปปฏิบัติตาม
อ้อย พี่สมศักดิ์ และน้องก้อง ขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาปราณีที่ป้าหมอหยิบยื่นให้ตลอด ป้าหมอพูดเสมอว่า คิดดี ปฏิบัติดี ก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดี อ้อยไม่เคยได้รับกำลังใจจากใครมาก่อนในกรณีที่ลูกเป็นโรคนี้ แต่ป้าหมอจะคอยสอน คอยปลอบและให้กำลังใจในการต่อสู้ตลอดมา
ครอบครัวของเราสำนึกในพระคุณ “ป้าหมอ” และโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ทำให้ชีวิตของน้องก้องดีขึ้น ไม่ต้องเจ็บป่วยบ่อยๆ เหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราสามคนพูดกันเสมอว่า “เราโชคดีแค่ไหนแล้ว ที่ได้พบหมอที่เป็นมากกว่าคำว่าหมอ”
รักและเคารพ จาก
ครอบครัวใกล้หมอ
สมศักดิ์-ดวงตา สุนทรธาราวงศ์
“หมอสำหรับความคิดของเราคือบุคคลที่เกิดมาแล้วโชคดีเพราะอาชีพหมอคืออาชีพที่ได้มีโอกาสทำบุญตลอดเวลา คนไหนเจ็บก็มาหาหมอ คนไหนป่วยก็มาหาหมอ เรียกว่าหมอ คือผู้ปลดทุกข์ให้แก่คนไข้ เป็นทั้งพ่อพระ แม่พระ หรือพระเจ้าของคนไข้ทั้งปวง ส่วนคนไข้ก็คือผู้ไม่รู้ว่าความเจ็บป่วยของตัวเองที่แท้มาจากไหน เพราะอะไรทำไมถึงป่วย เป็นแล้วจะหายไหม เป็นแล้วจะรักษาอย่างไร จิตใจของคนไข้ที่มาหาหมอบางครั้งก็ย่ำแย่ ท้อแท้ เหนื่อยหน่าย เบื่อ สารพัดทั้งอาการทางใจและทางกาย แล้วมันยังมีผลกระทบไปยังบุคคลผู้ใกล้ชิดอันเป็นที่รัก เช่น พ่อ แม่ แล้วถ้ายิ่งบุคคลอันเป็นที่รักของเรานั้น คือ ลูกตัวเล็ก ๆ ที่เมื่อยามเจ็บป่วยก็ไม่รู้จะบอกเราอย่างไร ดังนั้นหมอจึงเป็นอะไรที่เรานึกถึงเป็นคนแรก และหมอคือผู้ที่ต้องทำอะไรก็ได้เพื่อให้คนไข้หายป่วย และผู้ที่ใกล้ชิดกับคนไข้นั้นให้หายสงสัย หมดความวิตกกังวล และกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและมีกำลังใจ”
จากประสบการณ์ที่เรามีประมาณ 1 ปีก่อนมาพบป้าหมอสุภรีเราคือครอบครัว ครอบครัวหนึ่ง ที่มีคุณแม่ และคุณลูกที่ครั้งหนึ่งเคยมีสุขภาพกายและจิตใจแย่มาก มีคุณพ่อเป็นคนขับรถพาเราไปส่งโรงพยาบาลกลางค่ำกลางคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเพราะไอ้ตัวเล็กของเรามันจับหอบ บางครั้งก็เสาะแสวงหา หมอไหนใครว่าดีเราก็ไปหาหมด จนเราอ่อนใจ ท้อแท้ จนกระทั่งสุขภาพของเราสามคนพ่อแม่ลูกแย่ไปตาม ๆ กัน เพราะเราไม่เคยเจอหมอที่มีจิตวิญญาณของความเป็นหมอที่แท้จริง อาศัยความไม่รู้ของคนไข้แล้วรักษาเราไปเรื่อย ๆ และนัดหมายเราเมื่อลูกป่วยเท่านั้น อีกทั้งยังให้ยาครั้งละมาก ๆ โดยไม่ถามคนไข้สักคำว่ามียาตัวนั้นตัวนี้แล้วหรือยัง คงคิดว่าคนไข้ไม่รู้เรื่อง มิหนำซ้ำการไปรับการรักษาทีไรจะปราศจากการอธิบายหรือบอกวิธีบำบัดรักษาอย่างละเอียด ไม่ค่อยจะให้เวลาแก่เราในการซักถามถึงข้อสงสัยต่าง ๆ เหมือนเห็นแก่เวลาของตัวเองเท่านั้นที่มีค่ามากกว่าเวลาของคนไข้คนหนึ่งที่ดั้นด้นไปหา
จนกระทั่งวันหนึ่งก็มีคนบอกเราว่า “ลองไปหาป้าหมอสุภรีซิเขาหายกันมาเยอะแล้วนะ” เราฟังทีแรกก็ไม่ตื่นเต้นหรอกเพราะเราก็ไปหาหมอที่เขาว่าดี ว่าเจ๋งมาเยอะแล้ว เพียงแต่ป้าหมออะไรนี่แหละคงจะเป็นความหวังใหม่ของเรา และก่อนที่เราจะไปหาป้าหมอสุภรี ตัวคุณแม่เอง ตั้งจิตอธิษฐานในใจเลยว่าขอให้เจอหมอที่ดี ที่เขามีจิตวิญญาณของความเป็นหมอ และที่เขาเอาใจใส่เรา เข้าใจสภาพจิตใจ ให้กำลังใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องอธิบายให้เราเข้าใจในทุกเรื่องสักที แล้วเราก็มาหาป้าหมอสุภรีที่คลีนิก ซึ่งเราก็ไม่เหมือนคนไข้อื่น คือเราเตรียมสมุดบันทึกวัคซีน และตระกร้ายาที่มียาที่เราเคยใช้ในการรักษาใบใหญ่ทีเดียว และพร้อมด้วยสมุดจดชื่อยาแก้อักเสบที่เราเคยใช้ทั้งหมด คลีนิกนี้ทำให้เราประทับใจมากตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไป ป้า ๆ ทุกคนในคลีนิกซักประวัติเรากับลูก (ถ้าเป็นผ้าก็คงจะขาวทีเดียว) จนละเอียดยิบ จนเราเข้าใจผิดว่าหนึ่งในป้า ๆ นั้นคงมีใครสักคนที่เป็นป้าหมอสุภรี แต่ก็ผิดถนัด เมื่อเราได้เข้าตรวจจริง ๆ เราถึงกับอึ้งกับคำอธิษฐานของเราจริง ๆ ป้าหมอให้เวลากับลูกของเราคนเดียวนานถึง 1 ชั่วโมง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ค้างคาใจเรามาเป็นเวลานานมันหมดไปเลย ป้าหมอทั้งให้ความรู้ของโรคภูมิแพ้และการจับหอบ ป้าหมอตั้งใจมากที่จะอธิบายเรื่องยาที่รักษาโรคภูมิแพ้เพื่อให้เราเข้าใจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้เลย ป้าหมอเปลี่ยนยาและลดยาลง (เกือบหมดตระกร้าที่หิ้วมา เหลืออยู่เพียง 3-4 ขวดเท่านั้น) วางแผนการรักษาและนัดดูอาการเป็นระยะ ๆ กับเรา และแนะนำเราเรื่องการรักษาสุขภาพเบื้องต้นที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา เช่น เน้น 4 อ. ออกกำลังกาย อาหาร อากาศ อารมณ์และอื่น ๆ อีกมากมาย ป้าหมอไม่ได้เน้นเรื่องยารักษาโรคเหมือนหมอคนอื่น ๆ ป้าหมอเอาใจใส่เรามากเลย เราเริ่มมีกำลังใจ และเป็นวันแรกที่เรามีความสุขมาก แล้วเราก็มาตามที่ป้าหมอนัดทุกครั้ง คุณลูกและคุณแม่ก็มีสุขภาพที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ป้าหมอไม่ได้ดีกับครอบครัวของเราเท่านั้น ป้าหมอก็ดีกับเด็ก ๆ และครอบครัวอื่น ๆ ด้วย เราไม่เคยหงุดหงิดเลยที่ต้องมารอรับการรักษาจากป้าหมอนาน ๆ เพราะเรารู้ดีว่าป้าหมอรักและตั้งใจรักษาคนไข้ของป้าหมอทุกคนเท่า ๆ กัน
เมื่อถึงวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปีคือวันเกิดของป้าหมอ ทุกคนจำได้ เด็ก ๆ และคนไข้จะมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้นัดหมาย เรารู้ว่าป้าหมอไม่ได้ต้องการของขวัญจากพวกเราเพียงแต่อยากเห็นหน้าพวกเรากระมัง เรารู้ดีว่าเพียงของขวัญและคำอวยพรก็ไม่อาจตอบแทนบุญคุณที่ป้าหมอรักษาเราด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นหมอให้พวกเราได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น แต่เราจะเก็บและระลึกถึงป้าหมอไว้ในใจของเราตลอดไป
สุดท้ายนี้ป้าหมอใกล้เกษียณราชการแล้ว แต่เราเชื่อว่าป้าหมอไม่หนีพวกเราไปไหนไม่พ้นหรอก เพราะป้าหมอรักเด็ก ๆ และคนไข้ทุกคน (ถึงหนีก็จะตาม) พวกเราอยากบอกป้าหมอว่าเราทุกคนรักป้าหมอมากๆ ค่ะ
รักป้าหมอมาก
จากคนไข้ที่น่ารัก
ศิรินารถ เพชรแสงใส (แม่น้องปลื้ม)
เรียน อาจารย์สุภรี สุวรรณจูฑะ ที่เคารพอย่างสูง
ดิฉันได้รับรู้มาว่า อาจารย์จะเกษียณอายุงานในเดือนกันยายนนี้ ก็รู้สึกใจหายอย่างบอกไม่ถูก ท่านเป็นแพทย์ที่มีคุณธรรมประจำใจ มีความสามารถรอบรู้ มีจิตใจดีงาม เอื้ออาทรต่อคนไข้เสมอ ซึ่งท่านก็เป็นแบบอย่างที่ดี แนะนำให้คำสั่งสอนนักเรียนแพทย์ ในทุกๆ รุ่นที่ผ่านการสอน และในแต่ละรุ่นก็ซึมซาบความดีงามเหล่านี้ จากท่านได้อย่างดี ดิฉันอยากให้ทางโรงพยาบาล ได้รับรู้ว่าเป็นการโชคดีมากที่ทางโรงพยาบาลได้มีอาจารย์แพทย์ดีๆ เช่นนี้อยู่ในโรงพยาบาล แต่น่าเสียดายที่วาระเกษียณงานของท่านต้องมาถึงแล้ว จากนี้ไปดิฉันได้เพียงแต่หวังว่า ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีจะมีอาจารย์แพทย์ที่ดีเช่นนี้อีก
ส่วนตัวดิฉันเองได้รู้จักอาจารย์มาได้ประมาณ 6 ปีกว่าๆ แล้ว ทุกครั้งที่พาลูกไปหาท่าน จะรักษาคนไข้ไม่ว่ามีฐานะที่ดี หรือคนที่มีฐานะค่อนข้างลำบาก ท่านก็จะให้ความห่วงใยและรักษาคนไข้ด้วยดีเสมอมา ท่านไม่เคยหวังค่ารักษามากมายจากคนไข้ และทุกครั้งหลังการรักษาท่านจะแนะนำให้คุณธรรมในการดำรงชีวิตเสมอๆ ซึ่งดิฉันได้นำคุณธรรมจากการแนะนี้นำมาใช้ โดยมีประโยคหนึ่งว่า “คนเก่ง คนสวย คนรวย ไม่สำคัญเท่ากับคนๆ นั้นต้องเป็นคนดี” ความหมายของประโยคนี้มีใจความกว้างมากต่อการใช้ชีวิตตัวเองไม่ให้เป็นภาระต่อสังคม และต่อครอบครัวของตนเอง
แต่แล้วในที่สุด ลึกๆ ในหัวใจดิฉัน มีความดีใจอยู่บ้างว่าอาจารย์ก็จะได้มีเวลาพักผ่อนกับชีวิตครอบครัว ซึ่งท่านก็ได้สละเวลามามากให้กับสังคม ให้กับการดูแลเอาใจใส่ เอื้ออาทรคนไข้เป็นอย่างดี ตลอดการทำงานที่ผ่านมา จึงได้แต่ภาวนาขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้ท่านได้มีความสุขกายสบายใจกับครอบครัวหลังจากที่ได้เกษียณแล้ว
ด้วยความเคารพอย่างสูง
วิลาวัลย์ ทองเชื่อมและครอบครัว
สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย
สำนักงาน: หน่วยโรคระบบหายใจเด็ก ชั้น 3 ห้อง 304 อาคารศูนย์แพทย์สิริกิต์
โรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทร. 0635894599
E-mail: thaipedlung.org@gmail.com